- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 07 September 2015 08:57
- Hits: 11604
เบิกจ่ายงบลงทุนวืดเป้าแสนล.น้ำมันช่วยดันรายได้สรรพสามิตโต
ไทยโพสต์ : ไทยโพสต์ * คลังแจง 11 เดือน เบิกจ่ายงบรวมพุ่ง 85% งบประจำฉลุย 90% ด้านงบลงทุนใช้เงินอืดประเมินสิ้นปีงบหลุดเป้า 1 แสนล้านบาท แถม อบต.เบิกจ่ายไม่สะดวก เจอสอบยิบ ฟากสรรพสามิตฟุ้ง 11 เดือน จัดเก็บรายได้ทะลุเป้า 2.3 พันล้านบาท อานิสงส์ภาษีน้ำมันดันผลงานเด่น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ในรอบ 11 เดือนแรก งบประมาณรวม 2.57 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.19 ล้านล้านบาท หรือ 85% แยกเป็นงบประจำวงเงิน 2.15 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 1.95 ล้านล้านบาท หรือ 90% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบลงทุนวงเงิน 4.15 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.39 แสนล้านบาท หรือ 57% โดยยังมีงบลงทุนที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีกถึง 1.76 แสนล้านบาท ซึ่งในเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้อีกจำนวนมาก แต่ก็คาดว่าจะมีงบลงทุนเบิกจ่ายไม่ทันไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ
"การเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ ทันดังกล่าว สอดคล้องกับการ ปรับแผนการกู้เงินของงบประ มาณปี 2558 ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบลดวงเงินกู้ลงประมาณ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากการลงทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจหลายแห่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ไม่ทันตามแผนที่วางแผนไว้" แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของงบลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ในปีงบประมาณ 2558 ถูกบรรจุไว้ในงบใช้จ่ายประจำและมีการเบิกจ่ายไปแล้วโดยกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมายังมีปัญหาเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นถูกตรวจสอบการทำงานจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้เงินดังกล่าวยังค้างท่ออีกจำนวนมาก เมื่อถึงสิ้นปีงบ ประมาณคาดว่าจะมีเงินส่วนนี้ไม่เบิกจ่ายอีกจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันงบลงทุนเหลื่อมปีวงเงิน 3.51 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปรากฏว่าเบิกจ่ายได้เพียง 1.99 แสนล้านบาท หรือ 56% คาดว่าสิ้นเดือนนี้จะมีเงินค้างท่ออีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทเช่นกัน
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทีมเศรษฐกิจใหม่ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนต่างๆ ล่าช้าแล้ว และรู้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่าการเบิกจ่ายจะทำได้รวดเร็ว เพราะโครงการส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาดำเนินการ และหลายโครง การมีปัญหาถูกตรวจสอบความถูกต้องทำให้เดินหน้าต่อไม่ได้ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระ ตุ้นการลงทุน เร่งโครงการลงทุนมูลค่าไม่ถึง 1 ล้านบาท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และการให้เงินตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการขนาดเล็ก โดยทั้งสองมาตรการจะใช้เงินให้หมดได้ภาย ใน 3 เดือน เป็นการเติมเงินเข้าสู่ ระบบพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปก่อน
ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บ ภาษีของกรมในเดือน ส.ค.ที่ผ่าน มา ซึ่งเป็นเดือนที่ 11 ของปีงบ ประมาณ 2558 จัดเก็บได้ 3.68 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2.3 พันล้านบาท หรือประมาณ 7% ซึ่งเป็นการเก็บภาษีน้ำมันได้เกินเป้า 6.7 พันล้านบาท หรือ 121% จากการปรับเพิ่มอัตราภา ษีและปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ถูกลงมาก นอกจากนี้ยังเก็บภาษีเครื่องดื่มได้เกินเป้า 40 ล้านบาท หรือ 3%
สำหรับ การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในรอบ 11 เดือน เก็บได้ 4.03 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.69 หมื่นล้านบาท หรือ 4% เนื่องจากการเก็บภาษีน้ำมัน ยาสูบ และเครื่องดื่ม สูงกว่าเป้าหมาย ส่วนภาษีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เบียร์ สุรา ยังต่ำกว่าเป้าหมาย.
รายได้ 10 เดือน 1.77 ล้านล้านพิษศก.ซึมรีดภาษีต่ำเป้าอื้อชี้บึ้มกรุงฉุดจีดีพีวูบ 0.05%
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * สศค.แจงฐานะคลัง 10 เดือน ปีงบประมาณ 2558 แตะ 1.77 ล้านล้านบาท แต่การจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า 7.5 หมื่นล้านบาท เหตุรีดภาษีวืด 4% คาดเหตุระเบิดราชประสงค์ทำนักท่องเที่ยวหาย 3 แสนราย ฉุดจีดีพีวูบ 0.05%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐ กิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-ก.ค.58) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1.77 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียว กันของปีก่อน 9.38 หมื่นล้านบาท หรือ 5.6%
ขณะที่การเบิกจ่ายงบประ มาณ อยู่ที่ 2.25 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.54 แสนล้านบาท หรือ 7.3% ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2558 อยู่ที่ระดับ 2.02 แสนล้านบาท ส่วนดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดขาด ดุล 4.95 แสนล้านบาท เนื่องจากการขาดดุลเงินงบประมาณ 4.76 แสนล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 1.86 หมื่นล้านบาท
ส่วนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ช่วง 10 เดือนแรกปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารตามงบประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท หรือ 4.1% เป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่ำกว่าเป้าหมาย 6.11 หมื่นล้านบาท หรือ 14.1% ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ต่ำกว่าเป้าหมาย 5.1 หมื่นล้านบาท หรือ 7.9% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.44 หมื่นล้านบาท หรือ 30.2% และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.08 หมื่นล้านบาท หรือ 23.5%
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สศค.กล่าวว่า สศค.ได้ประเมินเบื้องต้นภายหลังเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ หายไปอย่างน้อย 3 แสนคน จากประมาณการนักท่องเที่ยว ปีนี้ทั้งหมดที่ 29.9 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจหายไปอย่างน้อย 0.05%
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะยังขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 3% แม้จะมีปัจจัยลบจากเหตุการณ์ระเบิด แต่ยังมีปัจจัยเสริมจากการเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะการเติมเงินเข้าสู่ระบบ ประชาชนที่มีรายได้น้อยและเกษตรกรกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะเข้าไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการเร่งลงทุนในโครงการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้อีกทางหนึ่งด้วย