- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 11 August 2015 21:50
- Hits: 4683
ปลัดคลังรับปีนี้ อาจจัดเก็บรายได้พลาดเป้า1.6แสนลบ.เตรียมหาช่องทางอื่นเสริม
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง คาดว่า ในปีงบประมาณ 58 นี้ กรมจัดเก็บรายได้ทั้ง 3 กรม ประกอบด้วย กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมสรรพากร จะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายรวมกันแล้วประมาณ 1.6 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากส่วนอื่นมาช่วยเสริม เช่น รายได้จากการนำส่งของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น, รายได้จากเงินกองทุนต่างๆ รวมถึงรายได้จากเงินฝาก เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นด้วย
ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อว่าประเทศไทยยังไม่มีความเสี่ยงทางด้านการคลัง เพราะเงินคงคลังยังอยู่ในระดับสูง และหนี้สาธารณะยังไม่เกินเพดานที่ 60% ของจีดีพี ในขณะที่หลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงเกือบ 100% ของจีดีพี ซึ่งการที่รัฐบาลใช้นโยบายที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ร่วมกับภาครัฐในรูปแบบของ PPP ก็จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ไม่ทำให้รัฐบาลต้องมีภาระในการกู้เงินมากขึ้น และคงไม่มีความจำเป็นต้องขยายเพดานขึ้นไปจากระดับ 60%
"ถ้ากฎหมาย PPP มีการปรับให้ง่ายขึ้นในการที่จะให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน หรืออาจเป็นรูปแบบของการให้สัมปทาน เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มเพดานการกู้เงินเพื่อมาสร้างหนี้มากขึ้นอย่างที่เรากังวลกัน" นายรังสรรค์กล่าว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าในปี 2564 หนี้สาธารณะของไทยมีโอกาสจะขึ้นไปใกล้เคียงกับระดับ 60% ดังนั้นในระหว่างนี้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะโตเฉลี่ยที่ 3% ก็มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการจัดหารายได้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องทบทวนมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกไปว่ามีผลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากเห็นว่ามาตรการในส่วนใดไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ต้องปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
นายรังสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ.การโอนงบประมาณรายจ่ายว่า ล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และกำลังนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นานนัก และน่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 59
สำหรับ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การโอนงบประมาณรายจ่ายนี้ จะเป็นการโอนงบประมาณของหน่วยราชการต่างๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการ หรือยังไม่มีความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามที่ตั้งเป้าหมายมาใส่ไว้ในงบกลาง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินงบประมาณจากส่วนกลางที่รับโอนมานี้ไปใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือโครงการที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าก่อน
อินโฟเควสท์
คลังเล็งตั้งงบ‘ขาดดุล’ยาว หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันหนี้สาธารณะพุ่ง
แนวหน้า : สบน., สำนักงบฯ แบงก์ชาติ ร่วมประเมินความเสี่ยงการเงินการคลัง ชี้แนวโน้มหนี้สาธารณะในปี’64 จ่อแตะ 60% ของ “จีดีพี” เหตุรัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจ
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.), สำนักงบประมาณ,ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อประเมินความเสี่ยงการเงินการคลัง 4-5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังในปี 2564 จะอยู่ในระดับที่ 60% ของจีดีพี เนื่องจากรัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและวางรากฐานเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีต่ำกว่า 5% จะทำให้หนี้สาธารณะมีความเสี่ยงชนเพดานเร็วกว่ากำหนด ซึ่งหลังจากนี้รัฐบาลจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น และต้องหามาตรการอื่นเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง
ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังจะเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการบูรณาการเก็บภาษีของประเทศให้ได้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนผ่านโครงการร่วมทุนรัฐ และเอกชน หรือ พีพีพี เพื่อลดภาระการกู้เงินของประเทศ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ของประเทศยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะไม่มีการขยายกรอบความยั่งยืนมากขึ้น และในต่างประเทศสัดส่วนหนี้บางประเทศสูงถึง 100% ของจีดีพี ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจซึ่งจะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลายแสนล้านบาท ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและได้ไม่ต่ำกว่า 3% ตามที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ ซึ่งตอนนี้ยังมีเงินคงคลังมากกว่า 2 แสนล้านบาท เพียงพอกับการเบิกจ่าย แม้ว่าการเก็บรายได้ของประเทศช่วงนี้จะต่ำกว่าเป้า เพราะขณะนี้มีเงินลงทุนที่ค้างท่อเบิกจ่ายอีกประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และระหว่างนี้ยังมีเงินรายได้ไหลเข้ามา ซึ่งจะไม่กระทบกับการเบิกจ่ายของประเทศ
นายรังสรรค์ เปิดเผยว่า คลังมีแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2558-2559 ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ประกอบด้วยมาตรการที่ 1. การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของรัฐบาลวงเงิน 1.95 ล้านล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกยังดำเนินการได้ช้า แต่ในครึ่งปีหลังคาดว่าจะเร่งลงทุนได้ถึง 1 แสนล้านบาท
มาตรการที่ 2 การส่งเสริมการลงทุน จะเน้นการลงทุนที่ลงทุนได้จริง ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งคลังได้ออกมาตรการด้านภาษีส่งเสริมการเปิดกิจการบริษัทการค้าระหว่าง ประเทศ (ITC) และกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ)
มาตรการที่ 3 เป็นมาตรการทางการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเร่งด่วน ผ่าน 6 มาตรการย่อย ในครึ่งปีแรกมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และในครึ่งปีหลังจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกประมาณ 2.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้คลังได้อนุมัติบริษัทนาโนไฟแนนซ์ไปแล้ว 12 แห่ง เปิดดำเนินการไปแล้ว 3 แห่ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันยังปล่อยกู้ได้ไม่มาก เพราะเพิ่งเริ่มดำเนินการ แต่การปล่อยกู้ต่อไป จะเพิ่มรวดเร็วขึ้น
มาตรการที่ 4 การกระตุ้นโครงการที่มีอยู่ในงบประมาณ มีเม็ดเงิน 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของ ประเทศ ที่มีนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นประธาน ได้เร่งประสานงานกับกระทรวงต้นสังกัดให้มีการเร่งเบิกจ่ายในครึ่งปีหลังทั้งหมด จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศได้มาก เพราะเป็นโครงการระดับชุมชนท้องถิ่น
มาตรการที่ 5 การให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนหมุนเวียนและกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ต่อยอดกองทุนหมู่บ้านเป็นวงเงิน 4 หมื่นล้ลานบาท เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ต่อกับสมาชิก
สำหรับ มาตรการที่ 6 เป็นการปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายจะช่วยให้มี เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากอีกจำนวนมาก
ปลัดคลังเผยกรอบดำเนินงาน 6 มาตรการหลักกระตุ้นเศรษฐกิจปี 58-59
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรอบการดำเนินงานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 58-59 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งประกอบด้วย 1.การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เร่งรัดการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐต่อรัฐ และการเข้าร่วมลงทุนของภาคเอกชนที่มีความพร้อมดำเนินการในช่วงปี 58-59 ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.95 ล้านลบ. เป็นวงเงินกู้ประมาณ 0.92 ล้านล้านบาท
2.การส่งเสริมการลงทุน โดยเร่งรัดโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เช่นการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป และการส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เช่น การส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ, เศรษฐกิจดิจิทัล
3.มาตรการการเงินการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 6 มาตรการย่อยดังนี้ 1.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย 2.มาตรการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น 3.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 4.มาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม 6.มาตการอื่นๆ เช่น การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย(นาโนไฟแนนซ์)
4.การกระตุ้นโครงการที่มีอยู่ในงบประมาณประจำปี เช่น งบประมาณรายจ่ายที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจระดับรากหญ้า, โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน
5.การให้ความช่วยเหลือของกองทุนหมุนเวียนและกองทุนหมู่บ้าน โดยปัจจุบันมีการใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียน 114 กองทุน/เงินทุน เบิกจ่ายแล้ว 3.54 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 58.44% ของแผนการใช้จ่ายเงิน ขณะที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2 แสนล้านบาท สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
6.การปรับปรุงระบบการบริหารสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนารากฐานการกำกับดูแลสหกรณ์ ระยะที่ 2 การสร้างระบบและเครื่องมือในการกำกับดูแลสหกรณ์ ระยะที่ 3 การเสริมสร้างไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน
อินโฟเควสท์