WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gรงสรรค ศรวรศาสตรปลัดคลัง รับ ปีงบฯ 58 จัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษีพลาดเป้า ส่วน พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่ายอยู่ระหว่างเสนอสนช. คาดได้ใช้ในปีงบฯ 59

     นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 58 (ต.ค.57-ก.ย.58)  คาดว่าการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรม ประกอบด้วย กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร จะพลาดเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ 160,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ กระทรวงฯจะมีรายได้อื่นมาชดเชย เช่น รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รายได้จากเงินฝาก และกองทุนต่างๆ เป็นต้น

    ส่วนความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่าย ขณะนี้ได้ผ่านครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ในกระบวนการนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปีงบประมาณ 59

      ส่วนการประชุมประเมินสถานการณ์การเงินการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สำนักงบประมาณ พบว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะชนเพดานที่ 60% ในปี 2564 เนื่องจากรัฐบาลดำเนินนโยบายขาดดุลต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและวางรากฐานเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน โดยหลังจากนี้หากจีดีพีต่ำกว่า 5% จะทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยงหนี้สาธารณะชนเพดานเร็วขึ้น

    ดังนั้น ในระหว่างนี้รัฐบาลจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้มากขึ้นหรือลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง ซึ่งยอมรับว่าเป็นไปได้ยากเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จึงจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามเป้าที่ 3%

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ปลัดคลัง มั่นใจศก.ไทย 58 โต 3% เชื่อบาทอ่อนหนุนส่งออกฟื้น พร้อมเดินหน้า 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 58-59

    ปลัดคลังมั่นใจศก.ไทย 58 โต 3% เชื่อบาทอ่อนระดับ 35 บ./ดอลล์ หนุนส่งออกฟื้น พร้อมดัน 6 แผนหลัก เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 58-59 ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน - ส่งเสริมการลงทุน -มาตรการการเงินการคลังช่วยเหลือเกษตรกรฯลฯ พร้อมเผย อนุญาตให้กับผู้ประกอบการทำนาโนไฟแนนซ์แล้ว 12 ราย

     นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปีนี้ยังขยายตัวได้ 3% และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์นั้น คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้การส่งออกขยายตัวได้

    ทั้งนี้ กรอบการดำเนินงานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 58-59 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งประกอบไปด้วย 6 มาตรการหลัก คือ 1.การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐต่อรัฐและการเข้าร่วมลงทุนของภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการดำเนินการในช่วงปี 58-59 ภายใต้กรอบวงเงินรวม 1.95 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินกู้ประมาณ 0.92 ล้านล้านบาท

    ทั้งนี้ การติดตามความก้าวหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในปี 57 มีการเบิกจ่าย 906 ล้านบาท โดยภายในปี 58 จะเบิกจ่ายได้ทั้งหมด 108,318 ล้านบาท

     2.การส่งเสริมการลงทุน โดยเร่งรัดโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว เช่น การส่งเสริมการลงทุนทั่วไป และการส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เศรษฐกิจดิจิทัล และกิจการที่เกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น

    สำหรับ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ อยู่ที่ 71,140 ล้านบาท และมูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 412,690 ล้านบาท โดยโครงการที่ขอรับการส่งเสริมส่วนใหญ่เป็นกิจการเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เงินลงทุน 14 ล้านบาท นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเงินลงทุน 1,855 ล้านบาท และนโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เงินลงทุน 817 ล้านบาท

    3.มาตรการการเงินการคลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 6 มาตรการย่อย ซึ่งประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย คือ มาตรการเพิ่มรานได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น การให้ความช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท และโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ มาตรการข่วยเหลือเกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. มาตรการช่วยเหลือประชาชนรายย่อย โดยธนาคารออมสิน และมาตรการสินเชื่อเพื่อชำระหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธ.อ.ส.

    ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซอฟท์โลน มาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ระยะที่ 1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ มาตรการยกเว้นภาษาเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ขยายเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7%

     4.การกระตุ้นโครงการที่มีอยู่ในงบประมาณประจำปี เช่น งบประมาณรายจ่ายที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ปีงบประมาณ 58-59 วงเงินปี 58 เท่ากับ 157,423.95 ล้านบาท และโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 วงเงินอนุมัติ 77,096 ล้านบาท แผนงานหรือโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะเร่งด่วน ปีงบ 58 เพิ่มเติม 37,603 ล้านบาทและแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนเร่งด่วน ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท 39,493 ล้านบาท

     5.การให้ความช่วยเหลือของกองทุนหมุนเวียนและกองทุนหมู่บ้าน ปัจจุบัน ณ ไตรมาส 2 ของปี 58 มีการใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียน 114 กองทุน/เงินทุน เบิกจ่ายแล้ว 354,371.30 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.44% ของแผนการใช้จ่าย วงเงิน 606,374.73 ล้านบาท ในส่วนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียน 200,000 ล้านบาทท สำหรับการลงทึนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สน้างรายได้ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง

     6.การปรับปรุงระบบการบริหารสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนาฐานรากการกำกับดูแลสหกรณ์ ระยะที่ 2 การสร้างระบบและเครื่องมือในการกำกับดูแลสหกรณ์ ระยะที่ 3 การเสริมสร้างไปสู่ความมี่นคงและยั่งยืน

     นายรังสรรค์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย หรือ นาโนไฟแนนซ์ ว่า ปัจจุบันนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้ลงนามใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการแล้ว 12 ราย ได้แก่ 1.บริษัทเงินสดทันใจ จำกัด 2.บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด 3.บริษัท อมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด 5.บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด 6.บริษัท เมืองไทยลิสซึ่ง จำกัด 7.บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด (ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ) 8.บริษัท ไมด้าลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท โดเมสจิค แคปปิตอล 2015 จำกัด 10.บริษัท อินเทลลิเจนส์ ทีที พาวเวอร์ จำกัด 11.บริษัท ทีเค เงินสดทันใจ จำกัด 12.บริษัท เจ เอ็ม ที พลัส จำกัด

    อย่างไรก็ตาม ในจำนวนดังกล่าว มี 3 บริษัทที่ให้สินเชื่อแล้ว คือ บริษัทเงินสดทันใจ จำกัด บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด และบริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด โดยปล่อยกู้ให้ลูกค้าแล้ว 600 ราย คิดเป็นเงินสินเชื่อประมาณ 10.9 ล้านบาท

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!