- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 08 July 2015 12:25
- Hits: 4033
บี้ 14 ส่วนราชการเร่งเบิกจ่ายงบขุนคลังขันนอตอีก-จ่อถกบอร์ดธ.ก.ส.อัดสินเชื่อ 6 หมื่นล.
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * 'สมหมาย'ตามบี้ 14 ส่วนราชการ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ตีกรอบ 1 เดือนส่งการบ้านก่อนรายงาน 'บิ๊กตู่' รับทราบ มั่นใจสิ้นปีงบ 58 เบิกจ่ายลงทุนทะลุเป้า 86% เตรียมถกบอร์ด ธ.ก.ส. สั่งอัดสินเชื่อเข้าระบบเพิ่ม 6 หมื่นล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย 3 เดือน กระทุ้ง รสก.-แบงก์รัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ได้เรียก 14 หน่วยงานราชการเข้ามาหารือความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งที่เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำและงบลงทุน ในปีงบประมาณ 2558 ณ วันที่ 30 มิ.ย. ทั้ง 14 หน่วยงานเบิกจ่ายแล้ว 3.52 แสนล้านบาท หรือ 73.41% ของงบประมาณรวมที่ 4.79 แสนล้านบาท คาดว่าอีก 3 เดือนของปีงบประมาณ จะเบิกจ่ายงบลงทุนได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 86%
ทั้งนี้ ได้ให้ 14 หน่วยงานไปเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือ โดยกำหนดกรอบเวลา 30 วัน และจะมีการเรียกประชุมติดตามความคืบหน้าอีกครั้งวันที่ 6 ส.ค.2558 เพื่อประเมินสถานการณ์เบิกจ่าย และนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ และติดตามการเบิกจ่ายทั้งปีงบประมาณอีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย.2558 หากส่วนราชการใดไม่สามารถลงทุนได้ทัน จะขอคืนงบประมาณทั้งหมด เว้นแต่มีโครงการผูกพัน สามารถเสนอขอพิจารณายืดเวลาได้
"งบประมาณส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านน้ำในปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้ 4.6 หมื่นล้านบาท และวงเงินงบประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยการเบิกจ่ายล่าสุดที่รับรายงานมาได้แล้วกว่า 70% โครงการใหญ่ๆ เป็นไปตามแผน ดังนั้น เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ" นายสมหมายกล่าว
นายสมหมายกล่าวว่า ตัวเลขที่ส่วนราชการเสนอมาถึงความคืบหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น จะให้สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางเข้า ไปตรวจสอบซ้ำว่าถูกต้องหรือไม่ โดยเป็นการสุ่มตรวจสอบ โครง การใดก็ตามที่เบิกจ่ายได้ตามแผน หรือเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าแผน จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบทั้งหมด โดยอาจจะมีผลให้การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในปีนี้ปรับขึ้นน้อย หรือไม่มีการปรับขึ้นเลย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี
นายสมหมายกล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะมีการพิจารณามาตรการสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ลูกค้ามีสภาพคล่องไว้สำหรับเตรียมการเพาะปลูก ซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์ ในช่วงที่มีปริมาณน้ำเพียงพอหลังจากผ่านช่วงภัยแล้งไปแล้วในปี 2558
โดยแบ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้น 1 ปี วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อ 3 ปี อีก 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับ เงินกู้ระยะสั้น 1 ปี วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี โดยปลอดดอกเบี้ย 3 เดือนแรก หรือคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยทั้งปีที่ 4% ซึ่งถือว่าไม่สูงมาก สำหรับเกษตรกรที่เพาะปลูกเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 1 ปี ขณะที่เงินกู้ 3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี จะคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย
นายสมหมายกล่าวว่า ใน อีก 2 สัปดาห์ จะมีการเรียกประชุมกับรัฐวิสาหกิจเพื่อติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงสถาบันการเงินของรัฐด้วย โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารของรัฐจะถือว่ามีบทบาทมากในการดูแลประชาชน ซึ่งอาจจะต้องมีการยืดหยุ่น ประนี ประนอม ดูแลลูกค้าเป็นพิเศษมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหา ในส่วนของ ธ.ก.ส.ทำงานเป็นที่น่าพอใจ มีการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อดูแลเกษตรกรเหมาะสมมากขึ้น.
รมว.คลัง มั่นใจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนปี 58 ได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 86%
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง มั่นใจว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุน ภายในสิ้นปีงบประมาณ 58 ได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 86% โดยล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.58 สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้แล้ว 3.52 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 73.41% จากงบลงทุนรวม 4.79 แสนล้านบาท
รมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการประเมินผลการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการเป็นรายเดือน จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 58 และจะมีการรายงานผลความคืบหน้าการเบิกจ่ายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเป็นระยะจนถึงสิ้นปีงบประมาณ
โดยวันนี้ กระทรวงการคลังได้ขอให้ทั้ง 14 หน่วยงานไปเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 58 โดยกำหนดกรอบเวลา 30 วัน และจะมีการเรียกประชุมติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค.58 เพื่อประเมินสถานการณ์เบิกจ่ายและนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ และติดตามการเบิกจ่ายทั้งปีงบประมาณอีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย.58 ซึ่งหากส่วนราชการใดไม่สามารถลงทุนได้ทัน ก็จะขอคืนงบประมาณทั้งหมด เว้นแต่มีโครงการผูกพันก็สามารถเสนอขอพิจารณายืดเวลาได้
"ภาพรวมการเบิกจ่ายส่วนราชการเป็นที่น่าพอใจ จากการหารือ แบ่งออกเป็นส่วนราชการเป็นกลุ่มๆ ยกตัวอย่าง กลุ่มบริหารจัดการน้ำ ซึ่งปีนี้มีงบลงทุนในส่วนนี้ราว 7 หมื่นล้านบาท ก็ได้เดินหน้าเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 70% โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลลงทุนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ดี ส่วนกรมทรัพยากรน้ำยังมีปัญหาด้านเทคนิคในการเบิกจ่ายงบประมาณกับผู้ว่าจ้าง และกรมชลประทานยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการทำให้ล่าช้า" นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะให้สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง เข้าไปตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการอย่างละเอียดอีกครั้ง หลังจากมีการรายงานความคืบหน้ามาว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งโครงการใดก็ตามที่เบิกจ่ายได้ตามแผน หรือเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าแผนจะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบทั้งหมด
อินโฟเควสท์
'คลัง'เดินหน้าช่วยเอสเอ็มอีเปิดกองทุนฯส่งเสริมธุรกิจให้มีศักยภาพเติบโต
บ้านเมือง : 'คลัง'สนองนโยบายรัฐเดินหน้าส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี วางเป้าหมาย 6 เดือนข้างหน้ามีเอสเอ็มอีเข้าร่วมกองทุนโครงการรัฐบาลจากปัจจุบัน 4 ราย เพิ่มเป็น 16 ราย พร้อมเตรียมศึกษาแผนใช้หลักธรรมาภิบาลลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้านเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งงบประมาณเพื่อร่วมลงทุน 500 ล้านบาท โดยจะร่วมลงทุนรายละไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อ 1 กิจการ
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการลงนามกองทุนร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี ว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมาย 6 ด้านส่งเสริมเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 1.การช่วยเหลือพื้นฐานทั่วไป คือ การช่วยเหลือด้านบริหารจัดการ ส่งเสริมความรู้ และการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ 2.การใช้มาตรการภาษีด้านต่างๆ ทั้งชั่วคราวและถาวร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3.ช่วยเหลือแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 4.การค้ำประกันเงินกู้เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน โดยช่วงที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ดอกเบี้ยร้อยละ 4 วงเงิน 15,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังอุดหนุนภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 โดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รับประกันความเสียหายจากภาระหนี้เสียของทุกรายไม่เกินร้อยละ 18
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่ม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กำลังศึกษาแนวทางการค้ำประกันเงินกู้ให้ บสย. วงเงิน 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ วงเงิน 20,000 ล้านบาท บสย.ค้ำประกันความเสียหายไม่เกินร้อยละ 18 ของสินเชื่อที่ความเสียหายให้กับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ส่วนอีก 80,000 ล้านบาทพิจารณาเป็นรายโครงการ โดย บสย.รับภาระร้อยละ 70 ธนาคารพาณิชย์รับภาระร้อยละ 30
5.กองทุนร่วมลงทุน ตั้งขึ้นเพื่อเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลังจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) นำเงินร่วมลงทุนกับรัฐบาลเป็นกองแรกวงเงิน 500 ล้านบาท ส่วนกองทุนที่ 2 ธนาคารออมสิน เตรียมจัดตั้งกองทุนวงเงิน 500 ล้านบาทเช่นกัน จากนั้นจะคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านต่างๆ เข้าร่วมลงทุนกับรัฐบาล วางเป้าหมาย 6 เดือนข้างหน้ามีเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการรัฐบาลจากปัจจุบัน 4 ราย เพิ่มเป็น 16 ราย
และ 6.มาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีปฏิบัติตามหลักธรรมา ภิบาลด้วยเงื่อนไขด้านต่างๆ ทั้งการผลิตสินค้าคุณภาพ แข่งขันได้กับต่างชาติ การเสียภาษีอย่างถูกต้อง การทำบัญชีโปร่งใส หากทำตามเงื่อนไขจะลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีผู้หลีกเลี่ยงภาษีตบแต่งบัญชีแยกบัญชีหลายด้าน จึงต้องมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำงานอย่างโปร่งใสด้วยการลดภาษีผู้ประกอบการ มั่นใจว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า เป็นโครงการที่ร่วมลงทุนภายใต้ SMEs Private Equity Trus Fund ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนในกิจการ SMEs โดยเวลานี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และให้ทางเอสเอ็มอีแบงก์ลงทุนก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งธนาคารได้ตั้งงบประมาณเพื่อร่วมลงทุนในกิจการSMEs ไว้ที่ 500 ล้านบาท โดยจะร่วมลงทุนรายละไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อ 1 กิจการ
ทั้งนี้ การร่วมลงทุนจะพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.SMEs ขนาดเล็กประเภทเริ่มก่อตั้งที่มี นวัตกรรมและมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ เพราะเป็นกลุ่มที่กู้ยากและมีความเสี่ยงสูง 2.กลุ่ม SMEs ขนาดเล็ก มีศักยภาพสูง มองแล้วว่าจะสามารถพัฒนาเป็น SMEs ขนาดกลางได้ และ3. SMEs ขนาดกลาง เพื่อช่วยสร้างภาพพจน์ให้ดูดี มีเครดิตที่ดี ซึ่งจะช่วยให้กิจการเหล่านี้สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ทำให้ธนาคารได้ผลตอบแทนเร็ว เพื่อนำเงินไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยปัจจุบัน SMEs มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 2.7 ล้านราย เป็น SMEs ขนาดกลางอยู่ประมาณ 4 หมื่นราย
โครงการร่วมลงทุน SMEs Private Equity Trust Fund มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำหน้าที่วางนโยบายการลงทุนในลักษณะของ Steering Committee โดยกิจการที่ได้ร่วมลงทุนกับ SMEs จะต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จกิจการ SMEs ที่ Trust Fund โดยพี่เลี้ยง 1 คน สามารถดูแลกิจการได้ไม่เกิน 5 ราย และใน 17 กิจการที่จะเข้าร่วมพิจารณาการลงทุนมีอยู่เพียง 4 กิจการที่ผ่านการคัดเลือกได้รับการร่วมลงทุน
นอกจากนี้ Trust Fund จะไม่ครอบงำกิจการ และ SMEs ต้องมีการดำเนินงานที่โปร่งใสและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย และมีบัญชีแค่เพียงเล่มเดียวเท่านั้น