- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 22 June 2015 21:57
- Hits: 4184
คลัง เผย เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ จะช่วยลดภาระงบประมาณ หนุนโครงการเกิดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาเผยแพร่แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2558-2562 ว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา และกำลังอยู่ในขั้นตอนการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีกิจการที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ นี้ 6 ประเภทกิจการ ประกอบด้วย 1.กิจการคมนาคมและขนส่ง 8 กิจการ รวม 27 โครงการ 2.กิจการการสื่อสาร 3 กิจการ รวม 8 โครงการ 3. กิจการอาคารโครงสร้างพื้นฐาน 1 กิจการ รวม 1 โครงการ 4. กิจการการจัดการคุณภาพน้ำชลประทานและสิ่งแวดล้อม 3 กิจการ รวม 10 โครงการ 5. กิจการการศึกษา สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 4 กิจการ รวม 20 โครงการ และ 6.กิจการอาคารโครงสร้างพื้นฐาน 1 กิจการ รวม 1 โครงการ คิดเป็นจำนวนทั้งหมด 20 กิจการ โครงการรวมทั้งสิ้น 67 โครงการ มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.41 ล้านล้านบาท
โดยภายในปีนี้จะมีการคัดเลือกเอกชนและลงนามในโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มูลค่าการลงทุนทั้งหมดราว 82,500 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นเงินจากเอกชนที่ร่วมลงทุนด้วย 22,100 ล้านบาท และโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง(ICD) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มูลค่าการลงทุนทั้งหมดราว 2,900 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นเงินจากเอกชนที่ร่วมลงทุนด้วยราว 1,580 ล้านบาท
ขณะที่มีโครงการในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) อีก 2 โครงการที่กำลังอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติ คือ โครงการกำจัดขยะมูลฝอยของ อบจ.นนทบุรี มูลค่าการลงทุนราว 4,140 ล้านบาท และโครงการกำจัดขยะมูลฝอยของ เทศบาลนครราชสีมา มูลค่าการลงทุนราว 2,250 ล้านบาท
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2558-2562 ซึ่งมีทั้งหมด 20 กิจการดังกล่าวนั้น จะแบ่งเป็น 6 กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน(opt-out) เช่น กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง, กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง และกิจการพัฒนาโครงการโทรคมนาคม เป็นต้น และอีก 14 กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน(opt-in) เช่น กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า, กิจการพัฒนาระบบจัดการคุณภาพน้ำ, กิจการพัฒนาระบบจัดการขยะมูลฝอย, กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข และกิจการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น
โดยเป้าหมายสำคัญของโครงการใน 20 กิจการที่รัฐต้องการและสนับสนุนให้ดำเนินโครงการในลักษณะการให้เอกชนร่วมลงทุนนั้น ก็เพื่อให้ภาครัฐสามารถลงทุนพัฒนากิจการดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยสามารถลดข้อจำกัดของการลงทุนจากเม็ดเงินงบประมาณหรือเงินกู้จากภาครัฐ รวมทั้งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนในกิจการนั้นๆ ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สคร.จะเป็นผู้รับผิดชอบติดตามผลการดำเนินโครงการใน project pipeline ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ต้องสอดคล้องกับระยะเวลาและผู้ดำเนินการที่ได้มีการระบุไว้ โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ, การคัดเลือกเอกชน, การออกแบบรายละเอียด, การพัฒนาโครงการ และการให้บริการ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย