WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

GFIMS-พิษประชานิยมจำนำข้าว/รฟท.-ขสมก.ขาดทุนยับ คลังล้างหนี้ประเทศ 9 แสนล.

     แนวหน้า : 'รมว.คลัง'เผยเตรียมออกกฎหมายพิเศษเพื่อ รวมหนี้จำนำข้าว หนี้ค้างชดเชยให้รัฐวิสาหกิจ ชี้ครึ่งหนึ่งต้องจ่ายภายใน 8 ปี คาดทำให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบนี้ ระบุถ้าไม่เคลียร์ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกปีประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท

     นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า การที่ กระทรวงการคลัง จะออกกฎหมายพิเศษเพื่อล้างหนี้ของประเทศจำนวนกว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการรวมเอาหนี้ทั้งจากโครงการรับจำนำข้าว หนี้ที่รัฐบาลติดหนี้ กองทุนประกันสังคม และหนี้ที่รัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายให้กับรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งเป็นหนี้ค้างชดเชย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นต้น

    โดยมีสาระสำคัญของการออกกฎหมาย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการชำระหนี้ ซึ่งต้องมีระยะเวลานาน 20-30 ปี หากปล่อยไว้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะในจำนวน 9 แสนล้านบาท มีหนี้ครึ่งหนึ่งต้องชำระภายใน 8 ปีนี้ หรือตกปีละ 5 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันการชำระหนี้ของประเทศเป็นเงินต้นประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท และอีกประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เป็นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้

     ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ออกกฎหมายพิเศษมาบริหารหนี้ 9 แสนล้านบาท ก็ต้องยืดอายุหนี้ทั้งจำนวนออกไปเรื่อยๆ ทำให้เสียดอกเบี้ยทุกปีประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยที่เงินต้นอยู่เท่าเดิม ทำให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศมากขึ้น

   “การออกกฎหมายพิเศษแก้หนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่สามารถทำได้ ตอนนี้คลังดูเรื่องจำนวนหนี้ให้ชัดเจนว่าแต่ละส่วนมีเท่าไร และจะทำให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2558 เพราะรัฐบาลตั้งใจทำให้เสร็จภายในอายุรัฐบาลนี้” นายสมหมาย กล่าว

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดการออกกฎหมายล้างหนี้ 9 แสนล้านบาท ว่าจะมีการระดมทุนด้วยการออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรออมทรัพย์ แต่ละประเภทจำนวนเท่าไร

    ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวมีประมาณ 7 แสนล้านบาท เป็นหนี้จำนำข้าวก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 5.36 หมื่นล้านบาท โครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 6.15 แสนล้านบาท หนี้จากโครงการรับประกันราคาพืชผลอีก 3.1 หมื่นล้านบาท  โดยโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังมีข้าวที่ยังไม่ได้ขายคิดมูลค่าตามตลาดอยู่อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท

    สำหรับ หนี้ที่เหลืออีก 2 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่รัฐบาลต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งตัวเงินเข้าสมทบมีแต่การบันทึกตัวเลขทางบัญชีไว้เท่านั้น ซึ่งทางคลังอยู่ระหว่างการประสานกองทุนประกันสังคมว่าเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายเป็นจำนวนเท่าไร นอกจากนี้ยังมีเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายอุดหนุนให้ รฟท. และ ขสมก. ซึ่งมีจำนวนไม่มาก เพราะส่วนหนึ่งจะมีการโอนที่ดินของ รฟท. ให้กระทรวงการคลังบริหารเพื่อแลกกับหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท

    ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ยังได้หารือกับ สำนักงบประมาณ ให้จัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้ไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้มีวินัยการเงินการคลังมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2558 มีการตั้งงบประมาณชำระต้นเงินกู้ 5.57 หมื่นล้านบาท หรือ 2.2% ของงบประมาณรายจ่าย และในปีงบประมาณ 2558 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการตั้งงบชำระต้นเงินกู้ 6.19 หมื่นล้านบาท หรือ 2.3% ของงบประมาณรายจ่าย

    ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงจนถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในปีนี้ ว่าเรื่องนี้ รมว.คลังได้ยืนยันว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มชะลอลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่กลางปีที่แล้วและยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ ซึ่งล่าสุดอัตราเพิ่มของหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 5% จากที่เคยมีอัตราการเพิ่มถึง 18% ในปี 2555 และยังเป็นการเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่าบางประเทศเช่นมาเลเซียด้วย จึงถือว่าเป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!