- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 10 May 2015 23:10
- Hits: 3560
คลัง เสนอ ADB หนุนโครงการอินฟราฯในระดับภูมิภาค-ลงทุนในรูปแบบ PPP
รมว.คลัง ร่วมประชุม ADB ครั้งที่ 48 ระหว่าง 4-5 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เสนอให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย เข้ามาช่วยหนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสนับสนุนการลงทุนในรูปแบบ PPP ส่วนการประชุม รมว.คลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 18 ได้ติดตามความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย(Asian Development Bank: ADB)ครั้งที่ 48ระหว่างวันที่4-5 พ.ค.ที่ผ่านมา
นายสมหมาย ในฐานะผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้สรุปเกี่ยวกับสภาวะทางเศรษฐกิจของไทย ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยเน้นให้ ADB มีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะปานกลางและระยะยาวในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสนับสนุนการลงทุนในรูปแบบของการระดมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 18 รมว.คลัง ร่วมประชุม เมื่อ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ติดตามความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย เพื่อเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค รวมถึงติดตามความคืบหน้าต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เช่น การเตรียมความพร้อมของกลไกป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน+3 หรือมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที หากมีการร้องขอจากประเทศสมาชิก การเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) และความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI)ซึ่งเน้นการสร้างตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีความแข็งแกร่งสามารถเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค โดยความคืบหน้าที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดกรอบแผนยุทธศาสตร์ระยะกลางของ AMRO และความสำเร็จในการออกพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่นภายใต้โครงการประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Multi-Currency Bond Issuance Framework: AMBIF)ที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการเป็นโครงการนำร่องได้เป็นรายแรก
โดยล่าสุด กระทรวงการคลังได้อนุมัติการออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทยวงเงิน 3,200 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะสามารถออกตราสารหนี้ดังกล่าวได้ภายในครึ่งปีแรกนี้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย