- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 09 May 2015 22:49
- Hits: 3507
สภาผู้ว่าการ ADB หนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทยหวังเป็นศูนย์กลางภูมิภาค
นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 48 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง, เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน และรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคม 2558 โดยมีการประชุมหารือที่สำคัญ ดังนี้
1. การประชุมหารือกับ Mr. Takehiko Nakao, President of Asian Development Bank (ADB) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 ได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการสนับสนุนประเทศในภูมิภาคในด้านต่างๆ เช่น ด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงประเทศ และด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานเพื่อยกระดับการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และได้หารือเกี่ยวกับการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPPs) โดย ADB พร้อมให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงิน ด้านวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับ PPPs และ Infrastructure Fund แก่ประเทศไทย
2. การหารือทวิภาคีกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ Japan Bank for International Cooperation Agency (JICA) เกี่ยวกับการขยายขอบเขตความร่วมมือในการสนับสนุนประเทศในภูมิภาค และ การแนวทางการสนับสนุนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้มีการหารือกับ Japan Bank for International Cooperation (JBIC) เกี่ยวกับการสนับสนุนภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่นในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล นอกจากนั้น ได้มีการหารือกับ OPEC Fund for International Development (OFID) เกี่ยวกับเงื่อนไขและแนวทางการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศไทยสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
3. การหารือกับสถาบันการเงินต่างประเทศได้แก่ Standard Chartered Bank, Hong Kong and Shanghai Banking Corporation (HSBC) และ Barclays โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันขนาดของตลาดตราสารหนี้ในประเทศมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 77 ของ GDP หรือประมาณ 9.4 ล้านล้านบาท สามารถรองรับการระดมทุนของภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สถาบันการเงินต่างๆ แสดงความสนใจในการสนับสนุนการระดมทุนในโครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอแนะให้สถาบันการเงินต่างประเทศมีบทบาทในการชักชวนนักลงทุนมาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ PPPs ให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งเชิญชวนให้มีการจัดตั้ง International Headquarter ในประเทศไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษี นอกจากนั้น ได้มีการหารือกับ Misuho Bank Ltd ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรงการคลังให้ออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทยโดยใช้แบบฟอร์มมาตรฐานในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN+3 เป็นครั้งแรกในภูมิภาค
4. การประชุมหารือระหว่างรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและสถาบันการเงินต่างประเทศ ได้แก่ Nomura Holding Inc, Daiwa Securities Group และ Bank of Tokyo – Mitsubishi UFJ (BTMU) โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับ แนวทางการระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนพื้นฐานของภาครัฐ การบริหารความ เสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินกู้สกุลเงินเยนที่กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจกู้จากแหล่งเงินกู้ทางการ รวมทั้งการออกพันธบัตรสกุลเงินเยน (Samurai Bond) ของรัฐบาลไทย ซึ่งนักลงทุนของญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะลงทุนจำนวนมาก
โดย สบน. ชี้แจงว่า ปัจจุบันสภาพคล่องของระบบการเงินในประเทศมีอยู่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนการกู้เงินในประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอยู่ในระดับที่ต่ำ เอื้ออำนวยต่อการระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ นอกจากนี้ในปัจจุบันระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับสูง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีมาตรการผ่อนคลายการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม สบน.จะติดตามภาวะตลาดเงินทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และเมื่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมีความพร้อมและมีความต้องการเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต สบน. จะพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการลงทุนตามแผนงานของรัฐบาลต่อไป
อินโฟเควสท์