- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 16 June 2014 11:25
- Hits: 3578
'คลัง-คมนาคม'ถกโครงการ 3 ล้านล.หาเงินลงทุนรถไฟฟ้า-ขนส่งห่วงหนี้สาธารณะเกินเพดาน
แนวหน้า : สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นัดหารือผู้บริหาร กระทรวงการคลัง-คมนาคม ในวันที่ 16 มิย.หาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนเสนอ 'คสช.'ในวันที่ 19 มิย.'สบน.'ยันการกู้เงินต้องไม่ทำให้หนี้สาธารณะเกิน 60% ของ'จีดีพี'
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 16 มิ.ย.นี้ หน่วยงานของ กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม จะมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะมารองรับการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท ว่าจะเป็นเงินจากแหล่งใดบ้าง หลังจากนั้นจึงจะได้ข้อสรุปว่า สบน.ควรต้องกู้เงินมาในงบ 2558 เท่าใด ซึ่งเบื้องต้นคิดว่าจะกู้ไม่เกินกว่ากรอบ 2 ล้านล้านบาทที่กำหนดว่าในปีงบ 2558 สบน.จะกู้ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท
สำหรับ การลงทุนโครงการ 3 ล้านล้านบาท แหล่งเงินทุนมี 3 ส่วนคือ จากงบประมาณประจำปี จากการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุน(พีพีพี) และจากการกู้ตามพ.ร.บหนี้สาธารณะที่เปิดช่องให้กู้เพื่อพัฒนาประเทศในสัดส่วน 10% ของวงเงินงบประมาณ โดยในปีงบ 2558 กำหนดงบรายจ่ายที่ 2.575 ล้านล้านบาทสามารถกู้ได้ 2.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ การกู้เงินต้องพิจารณาว่าต้องไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี และเท่าที่หารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยการกู้มาลงทุนในโครงการ 3 ล้านล้านบาท จะต้องไม่ทำให้หนี้สาธารณะเกินกว่า 50% เพราะต้องเผื่อไว้สำหรับการกู้มาใช้กรณีฉุกเฉินด้วย
นางสาวจุฬารัตน์ กล่าวว่า หนี้สาธารณะคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 5.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46.56% ของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันจีดีพีมีมูลค่า 12 ล้านล้านบาท ถ้าต้องกู้เต็มที่ 60% ของจีดีพี ทำให้หนี้คงค้างอยูที่ 7 ล้านล้านบาท แต่การกู้ต้องพิจาณาให้เป็นไปตามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะด้วย โดยมีข้อกำหนดคือ การกู้ชดเชยขาดดุลต้องไม่เกิน 20% ของงบรายจ่ายประจำปี
“โครงการลงทุน 3 ล้านล้านบาทที่พูดถึงกันนั้นไม่ใช่การลงทุนปีเดียว แต่ทยอยลงทุนในช่วง 7-10 ปี ดังนั้นสบน.จึงไม่ได้รู้สึกกังวลหากต้องกู้มาสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว เพราะเป็นการทยอยลงทุน “ นางสาวจุฬารัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสรุปว่าสบน.ต้องกู้เท่าใด ก็ต้องเสนอแผนการกู้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะในเดือนสิงหาคม ก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อบรรจุเป็นแผนบริหารหนี้สาธารณะในปีงบ 2558 ต่อไป
“โครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาทนั้นยังไม่ได้สรุปแหล่งเงินว่าจะเป็นอะไร และแผนลงทุนดังกล่าวมีทั้ง ระยะสั้น กลาง และยาว และเป็นการลงทุนทั้งทางบก ทางน้ำ เรือ อากาศ และต้องดูว่าโครงการอะไรที่จำเป็นต้องลงทุนก่อน ซึ่งในช่วงสัปดาห์หน้าคงต้องมาหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง” นางสาวจุฬารัตน์ กล่าว
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เตรียมข้อมูลแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เสนอในการประชุมร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช.ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการตามแผนยุทธศาสตร์เดิม ซึ่งจะดำเนินการในปี 2558 -2565 วงเงินรวม 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากแผนเดิมของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะว่าเพิ่มโครงการทางอากาศเข้าไว้ด้วย โดยจะต้องหารือกันถึงเงินลงทุนกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง
มีรายงานข่าวแจ้งว่า แจ้งว่า ในเบื้องต้นคสช. หนุน โครงการรถไฟรางคู่ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้