- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 22 April 2015 12:28
- Hits: 1766
ฐานะการคลังครึ่งแรกปีงบ 58 รัฐนำส่งรายได้ 9.69 แสนลบ.เพิ่มขึ้น 3.9%
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 969,950 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 36,383 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9
โดยสาเหตุมาจากรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และรายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ความถี่ 2.1 GHz
การเบิกจ่ายงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,461,719 ล้านบาท สูงชกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 77,616 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 491,769 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 1,757 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 490,012 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 115,362 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุลทั้งสิ้น 374,650 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 121,097 ล้านบาท
"การขาดดุลในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ สะท้อนถึงบทบาทของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลและมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่" นายเอกนิติ กล่าว
ขณะที่ในเดือนมีนาคม 2558 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 78,139 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 80,964 ล้านบาท ในขณะที่เงินนอกงบประมาณเกินดุล 2,825 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 490,012 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 115,362 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 มีจำนวน 121,097 ล้านบาท
โดยรัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 170,489 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 28,768 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 20.3) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียนและรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะที่รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ จำนวน 251,453 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 85,996 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 52.0) แบ่งเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 228,371 ล้านบาท สูงว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 86,335 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 60.8) ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 190,218 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 47.8 และรายจ่ายลงทุน 38,153 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 186.7 และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 23,082 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 339 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.4)
ด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 42,891 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 14,212 ล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 11,220 ล้านบาท
อินโฟเควสท์