- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 17 April 2015 22:35
- Hits: 2027
คลังอัด 4 หมื่นล.เข้ากองทุนหมู่บ้าน
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * คลังสั่ง ธ.ก.ส.ออมสิน อัดฉีดเงิน 4 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ต่อกองทุนหมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานดีกว่า 65% คิดดอกเบี้ย 5% ระยะเวลา 2 ปี เชื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและเสริมการฟื้นฟูอาชีพ
นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยถึงมาตรการสนับ สนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ว่า ได้ประสานให้ 2 ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ต่อยอดให้แก่กองทุนหมู่บ้านที่มีผลดำเนินงานดี เกรดเอและบี ธนาคารละ 2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท มีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีการประเมินว่าในกองทุนหมู่บ้านทั้งหมดกว่า 7.92 หมื่นแห่ง มีกองทุนหมู่บ้านที่มีศักยภาพอยู่ราว 65% โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่กองทุนจะกู้จาก ธ.ก.ส. และออมสิน อยู่ 5% ต่อปี และให้กองทุนหมู่บ้านไปปล่อยต่อให้สมาชิกไม่เกิน 10% ต่อปี
นอกจากนี้ จะมีการเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านฯ และ ระเบียบ กทบ. ที่ใช้มานานกว่า 14 ปี เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุ บัน โดยจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ เช่น การปรับปรุงระเบียบการคัดเลือกคณะกรรมการกองทุนให้มีหลักเกณฑ์ตามหลักธรรมาภิบาล เพราะมีข้อร้องเรียนมามากเรื่องการเลือกเครือญาติมาเป็นกรรมการและปล่อยกู้ให้กันเอง จะมีการปรับกระ บวนการกู้ยืม แบบของสัญญาค้ำประ กันที่รัดกุมมากขึ้น ทั้งนี้จะมีบทบัญ ญัติเรื่องการยกระดับกองทุนให้เป็นสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง และจะมีการสั่งให้มีการตั้งสำรองกรณีการเกิดหนี้เสียขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยง แต่จะไม่ใช้เกณฑ์ที่เข้มเท่ากับสถาบันการเงิน
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เปิดเผยว่า ค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยที่กองทุนหมู่บ้านจะไปปล่อยกู้ต่อให้สมาชิกขั้นต่ำจะอยู่ที่ราว 6% แต่คาดว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมดจะอยู่ที่ 8% และกรณีสูงสุดไม่เกิน 10% ต่อปี เชื่อว่าจะช่วยแก้เรื่องหนี้นอกระบบได้ และส่งเสริมด้านฟื้นฟูอาชีพได้.
คลัง ชู 3 มาตรการพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองขับเคลื่อนศก.ฐานราก
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวถึงมาตรการเพื่อสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง(กทบ.)ว่า กระทรวงการคลังจะเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนในการเร่งแก้ไขปัญหาและการสนับสนุนเงินทุนอย่างเต็มที่ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังโดยความร่วมมือของ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) พิจารณาแล้วเห็นควรดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อทำให้เครือข่ายของกองทุนหมู่บ้านฯ มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก จึงควรมีการสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความเข้มแข็งให้สามารถขยายกิจการได้ ฟื้นฟูกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยังมีความอ่อนแอ และปรับปรุงการบริหารจัดการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินการ 3 ส่วน ดังนี้
1. การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแก่กองทุนหมู่บ้านฯ เห็นควรพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนหมู่บ้านฯ และระเบียบ กทบ. เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ มีความมั่นคงมากขึ้น เช่น การเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกระดับกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านในเรื่ององค์ประกอบ คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การคัดเลือกคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน
พร้อมทั้ง การปรับปรุงระเบียบ กทบ. เกี่ยวกับกระบวนการกู้ยืม แบบของสัญญาเงินกู้ยืมและสัญญาค้ำประกันการกู้ยืม การให้มีหลักเกณฑ์การค้ำประกันการกู้ยืมที่รัดกุมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้กองทุนหมู่บ้านฯ ใช้หลักประกันอื่นนอกเหนือจากบุคคลค้ำประกัน การกำหนดรูปแบบและเกณฑ์การกันเงินสำรองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากกำไรสุทธิจากการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ การดำเนินการเพื่อขอยกเว้นเงินจัดสรรจากรัฐบาล (บัญชี 1) ไม่ให้เป็นสินทรัพย์ที่เจ้าหนี้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองใช้ในการบังคับคดี (การขัดทรัพย์) เป็นต้น
2. การปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านฯ และ สทบ. เห็นควรปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ และ สทบ. ในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น การพัฒนาระบบบัญชีและระบบการบริหารจัดการเงินของกองทุนหมู่บ้านฯ ทุกกองทุนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การผลักดันการจดทะเบียนกองทุนหมู่บ้านฯ ให้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลให้ครบทุกแห่ง การให้ความรู้ทางการเงินแก่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและสมาชิกเป็นเกณฑ์การรับการสนับสนุนเงินทุนในอนาคต เป็นต้น
3. การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่กองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณาเพิ่มทุนสนับสนุนแก่กองทุนหมู่บ้านฯ จำแนกตามศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านฯ โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
3.1 เพิ่มทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 3 ในส่วนที่เหลือ จำนวน 19,825 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ได้รับการประเมินศักยภาพในระดับพอใช้ (C) และควรปรับปรุง (D) โดยให้กองทุนหมู่บ้านฯ แก้ไขปัญหาอุปสรรคและพัฒนาตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับจัดสรรเงินเพิ่มทุน ทั้งนี้ แบ่งกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยังไม่ได้รับจัดสรรเงินเพิ่มทุน ระยะที่ 3 เป็น 2 กลุ่ม โดยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เป็นพี่เลี้ยงดูแลกองทุนหมู่บ้านฯ ในกลุ่มที่ได้รับการประเมินศักยภาพในระดับพอใช้ (C) และระดับควรปรับปรุง (D) อย่างใกล้ชิด
3.2 สนับสนุนเงินทุนต่อยอดแก่กองทุนหมู่บ้านฯ ที่ได้รับการประเมินศักยภาพในระดับดีมาก (A) หรือระดับดี (B) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 59,874 แห่ง ให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. สนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวม 40,000 ล้านบาท หรือธนาคารละ 20,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 2 ปี เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเป็นเงินทุนต่อยอด สำหรับให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการลงทุน การสร้างรายได้ การใช้จ่ายยามจำเป็นฉุกเฉิน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี และมีระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ วงเงินการกู้ยืมสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ แต่ละแห่งให้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านฯ แต่ไม่เกินข้อกำหนดของสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นควรเสนอมาตรการเพื่อสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
อนึ่ง กองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 79,255 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่เป็นจำนวน 207,680.7 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558
อินโฟเควสท์