- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 16 April 2015 23:30
- Hits: 2044
คลังสั่งสรรพากรเก็บข้อมูลผู้มีรายได้ ชงรัฐบาลวางแผนช่วยชาวบ้าน
แนวหน้า : คลังสั่งสรรพากรร่างแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ทุกอาชีพภายในสิ้นปีงบประมาณ 58 เพื่อช่วยให้รัฐบาลวางแผนแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ตรงจุด ‘วิสุทธ์’ย้ำไม่ใช่การขยายฐานภาษี พร้อมชงรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยกองทุนหมู่บ้าน 2% ลดภาระสมาชิกกู้ต่อ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่าได้สั่งให้กรมสรรพากรร่างรายละเอียดและทำแบบฟอร์ม เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ทุกสาขาตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เบื้องต้นจะเป็นแบบฟอร์มรายละเอียดอย่างง่าย ให้ประชาชนกรอกรายชื่อ อายุ ที่อยู่ และรายได้ เพื่อให้รัฐบาลนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการประเมินผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ที่ไหนและเป็นใครบ้าง ก่อนกำหนดนโยบายต่าง ๆ ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
กรมสรรพากรกำลังร่างแบบฟอร์มดังกล่าวซึ่งเป็นแบบร่างขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้อยู่ในกฎหมายประมวลรัษฎากร เพื่อใช้ในการสำรวจข้อมูลของประชาชนอย่างทั่วถึง ที่เน้นให้ทราบถึงข้อมูลรายชื่อ เงินได้ ทรัพย์สิน และที่ดิน เพื่อทำระบบฐานข้อมูลใหม่ ก่อนจะแบ่งกลุ่มรายได้ของประชาชนให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะยังมีประชาชนบางส่วนไม่ได้อยู่ในระบบปัจจุบัน เช่น ระบบประกันสังคมหรือระบบฐานภาษี ทำให้นโยบายของรัฐบาลแต่ละครั้ง ลงไปไม่ถึงชาวบ้าน
“นายกรัฐมนตรีต้องการให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นทะเบียนประชาชนผู้มีเงินได้ทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบความเป็นอยู่ของประชาชน ก่อนที่จะนำมาแบ่งกลุ่มกำหนดรายได้ตามประเภทต่าง ๆ หากรัฐบาลจะมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ก็จะไปตรงจุด ไม่ตกหล่น ยืนยันว่าการมอบหมายให้กรมสรรพากรขึ้นทะเบียนประชาชนครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขยายฐานภาษีแน่นอน”นายวิสุทธิ์กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าเหตุผลของการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ครั้งนี้ จะต้องรู้ให้ชัดเจนเป็นรายชื่อว่าในตำบลในหมู่บ้านมีใครที่เดือดร้อนเข้าข่ายจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบ้าง เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงตัวบุคคลที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเกษตรกร แต่จะจดทะเบียนผู้มีรายได้ทั้งหมด ทั้งพ่อค้า แม่ค้า ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมาหารือกันอีกครั้งว่าจะจดทะเบียนอย่างไร ซึ่งต้องทำให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2558 หรือภายในเดือนกันยายนนี้
ขณะเดียวกัน การขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ครั้งนี้ จะช่วยให้นโยบายของรัฐบาลขับเคลื่อนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และสินเชื่อรายย่อย เพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) ที่จะเข้าไปช่วยดูปัญหาหนี้นอกระบบและส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินวัยยามเกษียณได้ตรงจุดมากขึ้นเพราะรัฐบาลจะมีข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนอยู่ในระบบปัจจุบันมากขึ้น
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ จากเดิมที่คาดว่าจะให้ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้แห่งละ 2 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 5% แต่กองทุนหมู่บ้านเห็นว่าสูงเกินไปทำให้ต้องไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกในอัตราดอกเบี้ย 6-7% ซึ่งเป็นภาระต่อสมาชิกพอสมควร
สศค.จึงหารือกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ให้ปล่อยกู้กับกองทุนหมู่บ้านในอัตราดอกเบี้ย 3% ส่วนดอกเบี้ยอีก 2% จะให้รัฐบาลชดเชยให้กับธนาคารทั้งสองแห่ง หากปล่อยกู้เป็นเวลา 2 ปี รัฐบาลต้องชดเชยเป็นเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะทำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนเมษายนนี้
สำหรับ การปล่อยกู้เพิ่มเติมให้กับกองทุนหมู่บ้าน เป็นมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนฐานราก เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัวได้ดีจากมาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยางครอบครัวละ 1.5 หมื่นบาท
ขณะที่มาตรการภาษีให้กับคนรายได้น้อย (NIT) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนมีรายได้น้อยอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง หากรัฐบาลหารายได้เพิ่มเข้ามาได้ ก็จะดำเนินการได้เพราะต้องใช้เงิน 4-5 หมื่นล้านบาท ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวได้ปีละ 4-5% ต่อปี ต่อเนื่อง รัฐบาลก็จะเก็บรายได้เพิ่มขึ้นใน 2-3 ปี ข้างหน้า ขณะที่การลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เพราะปัจจุบันรัฐบาลได้เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบหมดแล้ว ก็น่าจะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการมาตรการจ่ายเงินภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อยได้ในอนาคต