- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 10 April 2015 22:25
- Hits: 1727
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนมีนาคม 2558 และในช่วงครี่งแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558)
ในเดือนมีนาคม 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 157,368 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,769 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.2) ส่งผลให้ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 973,952 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 948 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.5)
1. เดือนมีนาคม 2558
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 157,368 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,769 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.2)
รายได้ที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ ได้แก่ การนำส่งรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 9,842 ล้านบาท หรือร้อยละ 184.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 180.0) เนื่องจากการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 10,427 ล้านบาท การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 6,916 ล้านบาท หรือร้อยละ 124.1 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 1,686 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.0
รายได้ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,502 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.6) โดยมีสาเหตุสำคัญจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว และราคาน้ำมันดิบที่ลดลง อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ยังคงเติบโตได้ดี ประกอบกับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของภาคเอกชนที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรคมนาคมในเรื่องของโครงการเส้นใยแก้วนำแสง ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,924 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.8 สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 2,836 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.6
2. ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 973,952 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 948 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.5) ทั้งนี้ กรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 41,004 และ 2,513 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 และ 4.1 ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 14,870 11,091 และ 9,976 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.7 5.2 และ 17.4 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 709,951 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 41,004 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,279 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 (สูงกว่า
ช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.2) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 3,906 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.8) ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 23,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.3) เนื่องจากมูลค่านำเข้าที่ยังหดตัว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,116 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.0
(ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.9) เนื่องจากภาษีที่เก็บจากค่าบริการและการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ภาษีจากกำไรสุทธิรอบครึ่งบัญชีของบริษัทญี่ปุ่น (ภ.ง.ด. 51) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,559 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.6) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชนจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนสภาพการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับดี
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 223,621 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,091 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.0) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 19,727 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.9 (สูงกว่า
ช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 67.9) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
- ภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,651 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.4) เนื่องจากปริมาณยาสูบที่ชำระภาษีขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 11,760 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.9) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว และภาษีเบียร์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,971 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.1)
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 58,987 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,513 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.3) เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 หดตัวร้อยละ 6.0 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 67,309 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,976 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 17.8) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทยสูงกว่าประมาณการ
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 94,522 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,870 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 36.1) สาเหตุสำคัญมาจากการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 10,427 ล้านบาท และการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ 5,562 ล้านบาท
สำหรับ กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 3,614 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 147 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 4.3) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้เหรียญกษาปณ์ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 136,933 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,866 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 113,560 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,940 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 23,373 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,926 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6
2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 5,533 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 733 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.3
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 7,189 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,431 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6
2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 7,003 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 948 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9
2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 3 งวด เป็นเงิน 23,780 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,120 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020 ต่อ 3543