WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังทำใจโตไม่ถึงเป้า 4%-ต้องหวังพึ่งท่องเที่ยวช่วยพยุงเศรษฐกิจ

     แนวหน้า : คลังทำใจโตไม่ถึงเป้า 4%-ต้องหวังพึ่งท่องเที่ยวช่วยพยุงเศรษฐกิจ อ้างศก.โลกซบลากส่งออกทรุด

   รมว.คลัง ยอมรับส่งออกไทยเข็นไม่ขึ้น หารือครม.สัญจร ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้า ด้าน ก.พาณิชย์ อ้างภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เป็นเหตุให้ตัวเลขส่งออกเดือนก.พ.ติดลบหนัก สินค้าเกษตรสำคัญอาการร่อแร่ เตรียมรวบรวมปัญหา เสนอคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

   นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาติดลบ 6.14% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักขยายตัวลดลง โดยพบว่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเติบโตลดลงจาก 6% เหลือ 3% ขณะที่การค้าโลกเคยขยายตัวได้ 4.5% เหลือเพียง 3% เท่านั้น ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของทุกประเทศ โดยเฉพาะในปีนี้สถานการณ์การส่งออกได้รับผลกระทบมากขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้รายได้จากการส่งออกยิ่งลดลง

   ดังนั้น ในการประชุมครม.สัญจรในวันศุกร์ที่ 27 มีนาคมนี้ กระทรวงการคลังจะหารือสถานการณ์การส่งออกและภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตต่ำให้ครม.รับทราบ โดยกระทรวงการคลังยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกที่ 1.4% และเศรษฐกิจขยายตัว 3.9% ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยในเดือนมกราคมการท่องเที่ยวขยายตัว 10% และ 30% ในเดือนกุมภาพันธ์ และด้านการส่งออกจะพยายามเน้นการส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม CLMV และอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้มีการเติบโตสูง

     “การส่งออกของไทยในเดือน ก.พ. 2558 ขยายตัวติดลบ 6.2% ถือเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เนื่องจากการค้าและเศรษฐกิจของโลกขยายตัวได้ต่ำมาก ส่วนไทยเองถ้าจีดีพี ขยายตัวได้ 4% ก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่หน่วยงานต่างๆ ได้คาดการณ์ออกมาแล้วว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวไม่ถึง 4% ซึ่งต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ จริง ซึ่งการประชุม ครม. กระทรวงการคลังจะรายงานข้อมูลเศรษฐกิจให้ ครม. ได้รับทราบนายสมหมาย กล่าว

      นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้การส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จะติดลบ 6.14% สูงที่สุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ที่ติดลบ 7.4% หนักสุดในรอบ 6 เดือน แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กังวล เพราะหากไม่รวมน้ำมันสำเร็จรูปกับทองคำส่งออกจะลดลงเพียง 2.4% ซึ่งไทยถือว่ามีปัญหาระดับกลางๆ ยังดีกว่าอีกหลายประเทศที่ต่างก็กำลังมีปัญหาการค้าหดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เช่น อินโดนีเซีย การส่งออกลดลง 11.9% อินเดียลดลง 11.2% และสหรัฐอเมริกา ลดลง 5% รวมทั้งสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกไทยขยายตัวติดลบมาจากยอดส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งติดลบถึง 12.5% โดยเฉพาะยางพารา ติดลบถึง 38% จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า

    ขณะที่สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 3.7% ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 26.8% เคมีภัณฑ์ ลดลง 20.3% ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง รวมทั้งการส่งออกทองคำที่ลดลงถึง 66% เนื่องจากราคาปรับลดลงทำให้ผู้ส่งออกหันไปนำเข้า เพื่อเก็งกำไรแทน แต่หากไม่รวมทองคำกับน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมจะยังขยายตัวได้ 1.9% ส่งผลให้ระยะ 2 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการส่งออกรวม 34,478 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังติดลบ 4.82%

    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกปีนี้จะยังขยายตัวเป็นบวกได้ โดยจากการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกเห็นสัญญาณที่ดีภายใต้เงื่อนไขว่าต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์อย่างเข้มข้น ซึ่งหลังสิ้นสุดไตรมาสแรกปีนี้จะทำการรวบรวมข้อมูล เพื่อทบทวนเป้าหมายการส่งออกปีนี้ใหม่ จากเดิมเคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าการส่งออกจะขยายตัว 4% หลังจากนี้จะรวบรวมปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ระบบโลจิสติกส์ ศุลกากร และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ลดภาระผู้ส่งออก แต่ในส่วนของสินค้าเกษตร หากเศรษฐกิจจีนดีขึ้น ก็มั่นใจว่ายอดส่งออกจะดีขึ้นได้

    ขณะที่การนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 16,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.47% เป็นการขยายตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มการผลิตและการลงทุนในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ดุลการค้าไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ไทยได้ดุลการค้า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกเดือน มี.ค. 2558 น่าจะมีโอกาสติดลบใกล้เคียงกับเดือน ก.พ.เนื่องจากมูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค.ปีที่ผ่านมาสูงถึง 19 พันล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งตอนนี้เศรษฐกิจโลกซบเซา ความต้องการสินค้าลดลง เห็นได้จากตลาดส่งออกหลักๆ ชะลอตัวติดลบเกือบหมด ทั้ง ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป มีเพียงสหรัฐ ที่ยังดี ตลาดจีนก็ติดลบ ภาพรวมตลาดอาเซียนที่เป็นความหวังติดลบ เนื่องจากส่วนใหญ่ไทยส่งออก เป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบที่ต้องนำไปผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ 3 เมื่อ เศรษฐกิจโลกไม่ดี ทำให้ส่งออกลดลงไปด้วย

    สำหรับ แนวโน้มการส่งออกครึ่งปีแรก มีโอกาสสูงที่ส่งออกไทยจะติดลบ เพราะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อย่างน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มีมูลค่าลดลงไปถึง 50% และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เกี่ยวข้องกับฝ้าย และใยสังเคราะห์ที่ทำมาจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ราคาก็ลดลงเช่นกัน ประกอบกับค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง 20% ทำให้การส่งสินค้าไปตลาดยุโรปมูลค่าลดลง

    “ในเดือน เม.ย.นี้ทางสภาผู้ส่งออกจะปรับเป้าหมายการส่งออกไทยใหม่ โดยขณะนี้ยังหวังว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ที่จะช่วยฉุดให้การส่งออก เป็นบวกได้ โดยตลาดที่เป็นความหวังและมีโอกาสโตมากที่สุด คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายสินค้า ส่งเสริมให้เอสเอ็มอี ขายสินค้าได้โดยตรงในตลาดหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

     นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การส่งออกไทยในปีนี้น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อาจจะไม่โตเพิ่มขึ้น เพราะปีนี้ราคาสินค้าเกษตรคงจะไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ประเทศผู้ซื้อยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก ดังนั้นเราคงหวังรายได้จากการส่งออก จะเข้ามาช่วยดึงจีดีพี ให้เพิ่มขึ้นยังไม่ได้

 เศรษฐกิจไทยป้อแป้โต 3.9%ขุนคลังเตรียมข้อมูลรายงานครม.สัญจรปลายสัปดาห์

     บ้านเมือง : ขุนคลังยอมรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวไม่ถึง 4% เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ดีอย่างที่คาดส่งผล ส่งออกไม่ขยายตัวตามเป้า ยืน ส่งออกโต 1.4% และจีดีพี ได้แค่ 3.9 % หวังรายได้จากการท่องเที่ยวเสริม เตรียมข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรีสัญจรปลายสัปดาห์นี้ ด้านพาณิชย์เตรียมแผนเร่งส่งออก

      นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้คงไม่สามารถขยายตัวได้ถึง 4% อย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีการเติบโตที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 6 ปีหลัง และชัดเจนที่สุดในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบชัดเจนกับภาคการส่งออกของไทยที่เคยเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับเกิดปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาก กระทบต่อกำลังซื้อของกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน อีกทั้งที่ผ่านมาหลายประเทศก็ต่างแข่งขันกัน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมก็ยังไม่ดีอย่างที่คาดการณ์

     "หลังจากนี้ไทยอาจจะต้องหันมาให้ความสนใจส่งออกไปยังประเทศเล็กๆ มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังขยายตัวได้อยู่บ้าง ที่ผ่านมาก็เห็นในกระทรวงพาณิชย์ เพราะตัวเลขส่งออกไม่ดีตั้งแต่ต้นปี ดังนั้นสิ่งที่ควรทำตอนนี้ คือ การสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับภาคประชาชน" นายสมหมาย กล่าว

     สำหรับ ปี 58 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.9% ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดการณ์ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.58 จะติดลบต่อเนื่อง แต่ยังเชื่อว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 1.4% โดยระหว่างนี้จะมีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านประกอบ และจะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน เม.ย.58

    จากตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาติดลบ 6.14% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักขยายตัวลดลง โดยพบว่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเติบโตลดลงจาก 6% เหลือ 3% ขณะที่การค้าโลกเคยขยายตัวได้ 4.5% เหลือเพียง 3% เท่านั้น ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของทุกประเทศ โดยเฉพาะในปีนี้สถานการณ์การส่งออกได้รับผลกระทบมากขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้รายได้จากการส่งออกยิ่งลดลง

    ดังนั้น ในการประชุมครม.สัญจรในวันศุกร์ที่ 27 มีนาคมนี้ กระทรวงการคลังจะหารือสถานการณ์การส่งออกและภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตต่ำให้ครม.รับทราบ โดยกระทรวงการคลังยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกที่ 1.4 % และเศรษฐกิจขยายตัว 3.9 % ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยในเดือนมกราคมการท่องเที่ยวขยายตัว 10 % และ 30 % ในเดือนกุมภาพันธ์ และด้านการส่งออกจะพยายามเน้นการส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม CLMV และอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้มีการเติบโตสูง

    ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวในปีนี้เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และเมื่อพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่เริ่มปรับตัวได้ดีขึ้นอย่างมาก จึงน่าจะเป็นจุดแข็งที่เข้ามาชดเชยปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ได้ส่วนหนึ่ง

     น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยเดือน ก.พ.58 การส่งออกหดตัว 6.14% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 17,230 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 1.47% มีมูลค่า 16,840 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 390 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. จะลดลงเพียง 2.4% ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกในเดือน ก.พ. ติดลบสูงสุดในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่ ส.ค.57 ที่ติดลบ 7.40% ขณะที่ 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.)ปี 58 ส่งออกหดตัว 4.82% มีมูลค่า 34,478 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าหดตัว 6.69% มีมูลค่า 34,545 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 66 ล้านเหรียญสหรัฐ

     โดยตลาดส่งออกของไทยนั้น ตลาดสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ 5.1% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตามปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เช่นเดียวกับตลาด CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 7% โดยเฉพาะกัมพูชา และพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน ขณะที่การส่งออกไปตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น ลดลง 11.7% และสหภาพยุโรป ลดลง 4.7% เป็นผลจากเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย(QE) ส่งผลให้เงินเยนและเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาท ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกไปจีนในเดือนก.พ.ลดลง 15.1% ตามการส่งออกยางพาราที่ยังลดลงต่อเนื่อง และน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชะลอตัว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!