WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลัง ชง ครม.สัปดาห์หน้าขอกู้เงิน 5.7 หมื่นลบ. ลงทุนโครงการน้ำ -สร้างถนน ไม่หวั่นหนี้สาธารณะพุ่ง คาดสิ้นปีงบ 58 อยู่ที่ 46-49% ไม่หลุดกรอบ 60%

     คลัง เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้าขออนุมัติกู้เงิน 5.7 หมื่นลบ. ลงทุนโครงการน้ำ -สร้างถนน ไม่หวั่นหนี้สาธารณะพุ่ง หลัง ม.ค.58 อยู่ที่ 5.6 ล้านลบ. หรือ46.46% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก ธ.ค.57 อยู่ที่ 46.3% ชี้ยังต่ำกว่ากรอบที่ 60% คาดสิ้นปีงบประมาณ 58 อยู่ที่46-49%

     นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะเสนอแผนการกู้เงินในการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาถนน วงเงิน 57,000 ล้านบาท เพื่อให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติโดยจะแบ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 24,000 ล้านบาท และการพัฒนาถนน 33,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามแผนการกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ส่วนแนวทางในการกู้เงินจะเป็นการกู้เงินในหรือต่างประเทศนั้น คงจะต้องรอดูมติของครม.ก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

 อย่างไรก็ตาม หากภายในสัปดาห์หน้าที่ประชุม ครม.อนุมัติแผนการกู้เงิน จะสามารถเริ่มจัดหาเงินกู้ได้ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. โดยสบน.จะทำแผนการเบิกจ่าย โดยคาดว่าเบื้องต้นจะเป็นการทยอยกู้เงิน ซึ่งก้อนแรกอาจอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท เป็นต้น

     นายธีรัชย์ กล่าวว่า สบน. คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2558 ยอดหนี้สาธารณะจะอยู่ในกรอบที่ 46-49% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยภายใต้สมมติฐานจีดีพีอยู่ที่ 3.9-4%  

      อย่างไรก็ตามยืนยันว่าแม้ว่ายอดหนี้สาธารณะจะขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี

      สำหรับ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 มกราคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,658,059.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.46 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากจากร้อยละ 46.32 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งแบ่งเป็น

·   หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 42,109.72 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

-   การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม  2558 จำนวน 23,976 ล้านบาท

-   การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 17,116.61 ล้านบาท

-   การกู้เงินเพื่อการลงทุน จำนวน 1,988.23 ล้านบาท ประกอบด้วย การเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ 200 ล้านบาท การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย 618.23 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน รถไฟสายสีแดงและโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 1,170 ล้านบาท

-    การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1,802 ล้านบาท·     หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 5,058.56 ล้านบาท

·    หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 1,919.63 ล้านบาท

 ·   หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง 1,046 ล้านบาท

     การที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง เนื่องจากมีการชำระคืน มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ และจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน

     ทั้งนี้ หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปัจจุบันยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ค่อนข้างมาก  

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!