WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สศค.คงเป้าจีดีพีปี 58โต 3.9% มองQ1/58 โตกว่า Q4/57 ที่โต 2.3% เชื่อลงทุนรัฐหนุน ส่วนยุโรปทำQE มั่นใจ ธปท.ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

   สศค. คงเป้าจีดีพีปี 58โต 3.9% มองQ1/58 โตกว่า  Q4/57 ที่โต 2.3% เชื่อมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐหนุน ส่วนส่งออกทั้งปียังคงเป้าโต 1.4% เงินเฟ้อปีอยู่ที่ 0.9% ส่วนภาวะ ศก. ม.ค.58 ส่งออก ติดลบ 3.5% นำเข้าติดลบ 13.3% ขาดดุลการค้า 0.5 พันล้านดอลล์ ขณะที่ เงินเฟ้อติดลบ 0.4% ครั้งแรกในรอบ 5 ปี เหตุราคาน้ำมันลดลง ส่วนยุโรปทำ QE เชื่อไม่กระทบ มั่นใจ ธปท.ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ ปัดบีบ ธปท.ลด ดบ.

   นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ยังคงเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปีนี้โต 3.9%  ส่วนจีดีพี Q1/58 มองโตกว่า Q4/57 ที่โต 2.3% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานในการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ หรือสบน.อยู่ระหว่างการเร่งรัดเกี่ยวกับแนวทางในการกู้เงิน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการกู้เงินในประเทศมาดำเนินการ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้เร็วจะกระตุ้นให้จีดีพีในปีนี้เติบโตได้มากกว่า 3.9%

  ทั้งนี้ สศค.คงเป้าหมายการส่งออกปีนี้โต 1.4% แม้ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกกลับมาติดลบที่ 3.5% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี

  "การส่งออกในปีนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มตะวันออกกลางที่มีปัญหาในเรื่องของราคาน้ำมันซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะในกลุ่มประเทศที่เป็นปัจจัยบวกของการส่งออกสำหรับปีนี้ ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ อินโดจีน รวมไปถึงกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม"นายกฤษฎากล่าว

   ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ สศค.ยังคงเป้าหมายอยู่ ที่ 0.9% แต่อย่างไรก็ตามจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงและมีแนวโน้มผันผวนอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีเหตุจำเป็นพร้อมพิจารณาตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีใหม่

   นายกฤษฎารายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม ปี 2558 ว่า ส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2558 กลับมาหดตัวอีกครั้ง โดยในเดือนมกราคม 2558 หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี โดยการส่งออกที่กลับมาหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวร้อยละ -13.0 และ -28.1 ต่อปี  โดยตลาดส่งออกที่หดตัวลง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน-5 ที่หดตัวร้อยละ -19.7 -7.5 -5.0 และ -4.8 ต่อปี ตามลำดับ

   การส่งออกที่กลับมาหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ที่หดตัว ร้อยละ -13.0 ต่อปี จากยางพารา และข้าว ที่หดตัวร้อยละ -40.6 ต่อปี และ -13.0 ต่อปี และน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัว ร้อยละ -28.1 ต่อปี เป็นสำคัญ ขณะที่สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี จากยานพาหนะและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัวร้อยละ 16.1 และ 21.2 ต่อปีเป็นสำคัญ สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัวในเดือนมกราคม 2558 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน-5 ที่หดตัวร้อยละ -19.7 -7.5 -5.0 และ -4.8 ต่อปี ตามลำดับ

   สำหรับ มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2558 มีมูลค่าอยู่ที่ 17.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.3 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่มีมูลค่า ต่ำกว่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลทำให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม 2558 ขาดดุล ที่ -0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม ปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2558  ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.8 ต่อเดือน ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -17.1 ต่อปี ซึ่งส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2558 หดตัวที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2558 กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับ 69.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชาชนยังมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวได้ช้า  และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวยังไม่ปรับตัวดีขึ้นเท่าที่ควร

    ประกอบกับแนวโน้มการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV และ LPG สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมกราคม 2558 พบว่า กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี

     การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2558 ยังคงชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมกราคม 2558 พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี อย่างไรก็ดี ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการคาดการณ์ของภาคเอกชนถึงการบังคับใช้ภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการรับมรดก สำหรับ การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบินเรือและรถไฟหดตัว ร้อยละ -4.5 ต่อปี

   ส่วน ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนมกราคม ปี 2558 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยทางด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ พบว่า รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมกราคม 2558 ได้จำนวน 215.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 197.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 181.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 16.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 89.0 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลพบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมกราคม 2558 ได้จำนวน 158.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี

   โดยรายการสำคัญ ดังนี้ (1) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3

  ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.3 และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -2.6 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มฐานการนำเข้าลดลงร้อยละ -17.6 สะท้อนการนำเข้าที่ยังคงชะลอตัว ขณะที่

   การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้

   เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน จากภาคเกษตรกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยภาคเกษตรกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนมกราคม 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.0 ต่อเดือน ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือก และผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของผลผลิตสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ เป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ระดับ 91.1 และถือเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกหลังจากที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตลอดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 โดยมีปัจจัยหลักมาจากความกังวล ต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคเกษตรรวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

   อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2558 จะมีการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงอุตสาหกรรมในวันที่

27 กุมภาพันธ์ 2558 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2558 อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

   ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2558 หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก เป็นสำคัญ รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และผักผลไม้ ที่มีการปรับตัวลดลง จากเดือนก่อนหน้า

  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.04 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่  ร้อยละ 46.3 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งสะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 155.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า

   นายกฤษฎา เปิดเผยถึงกรณีที่ยุโรปจะอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE ที่จะใส่เงินเข้าระบบตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย ส่วนความจำเป็นที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่นั้น มองว่าธปท.ดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการติดตามดูแลการค้าการขายและความสามารถในการแข่งขันด้วย

   "เราคงไม่ตอบว่าแบงก์ชาติจะต้องลดดอกเบี้ยลงมาเพื่อดูแลสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากปัจจุบันมั่นใจว่าธปท.สามารถดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว" นายกฤษฎา กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

สศค.คาด GDP Q1/58 โตกว่า Q4/57 ที่ 2.3%, ทั้งปีคาดโต 3.9%

   นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่าไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.3% แต่ทั้งนี้คาดว่าคงจะเติบโตไม่ถึง 3% ขณะที่ทั้งปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.9%

   สำหรับ มาตรการ QE ของสหภาพยุโรปนั้น คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าระบบในเดือนมี.ค.นี้ และเชื่อว่ามาตรการ QE นี้จะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีมาตรการดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้รายงานสถานการณ์ให้รัฐบาลรับทราบอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว

   ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดในช่วงที่ผ่านมานั้น เชื่อว่า ธปท.จะดูแลเรื่องนี้อย่างเหมาะสม และต้องวิเคราะห์ข้อมูลเงินทุน การส่งเสริมความสามารถด้านเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการไทย เรื่องคู่แข่ง คู่ค้าของไทยว่าเป็นอย่างไร ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะดำเนินนโยบายการเงินเช่นใดจึงจะเหมาะสม

   ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยปีนี้ ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 1.4% โดยปีนี้ปัจจัยเสริมจะมาจากคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น และกลุ่มประเทศ CLMV ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ในเกณฑ์ที่ดี

   ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาทให้แก่กระทรวงคมนาคมเพื่อใช้สำหรับการซ่อมแซมถนนทั่วประเทศนั้น ขั้นตอนหลังจากนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการกู้เงิน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินกู้ในประเทศเป็นหลัก และมองว่าโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการนี้ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องผ่านหลายขั้นตอนในการอนุมัติ ดังนั้นจึงน่าจะกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบได้เร็วขึ้น และมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

   อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!