WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ญี่ปุ่นประเมินเครดิตไทยติดลบ สมหมายแจงหั่นดอกเบี้ยไม่ช่วยฟื้นศก.

     ไทยโพสต์ : พระรามหก * บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือญี่ปุ่นคงเครดิตประเทศไทยเป็นลบต่อเนื่อง 2 ปีติด หลังประเมินจัดเลือกตั้งได้ต้นปี 59 สำนักงบแจงเบิกจ่ายล่าช้า 'สมหมาย' ชี้ลดดอกเบี้ย 0.25-0.5% ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

    รายงานข่าวจากสำนัก งานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ของญี่ปุ่น เรตติ้ง แอนด์ อินเวสเมนท์ อินฟอร์เมชั่น (อาร์แอนด์ไอ) ได้ประเมินสถานะมุมมองเครดิตของประเทศไทยเป็นลบ ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งคาดว่าจัดตั้งในปี 59 รวมถึงมาตร การที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ อาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งให้ความสนใจกับนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง และแนว โน้มเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการ ติดตามผลของการปฏิรูปทางการเมืองที่จะนำไปสู่เสถียร ภาพทางการเมืองได้หรือไม่

   ทั้งนี้ อาร์แอนด์ไอได้ยืนยัน เครดิตของรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศ ที่ระดับ BBB+ และสกุลเงินบาท ที่ระดับ A- และ ยืนยันเครดิตของหนี้รัฐบาลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ a-2 เนื่องจากระบบการเมืองของไทยได้เข้าสู่เสถียรภาพนับตั้งแต่กองทัพได้เข้ามาบริหารประเทศ

   ขณะเดียวกัน อาร์แอนด์ไอเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประกอบกับการบริหารการคลังอย่างระมัดระวัง เพราะอาจมีความเสี่ยงที่ฐานะทางการคลังจะเกิดความถดถอยอย่างรุนแรง โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ไปพร้อมกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยดังกล่าวแล้ว อาร์แอนด์ไอจึงยืนยันเครดิตของรัฐบาลไว้

   นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสถานการณ์การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการทั้งหมดในปีงบประมาณ 2558 ณ วันที่ 13 ก.พ.2558 โดยส่วนราชการมีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วทั้งสิ้น 1.01 ล้านล้านบาท คิดเป็น 39.6% จากงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 2.575 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นงบรายจ่ายประจำ 9.5 แสนล้านบาท หรือ 44.8% ขณะที่รายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายอยู่ที่ 6.75 หมื่นล้านบาท หรือ 15% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 41.80% หรือต่ำกว่าเป้าหมายราว 26.77% โดยคิดเป็นวงเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท

   ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาที่มีการเสนอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.5% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 2% ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกเล็กน้อย เพราะเมื่อปรับลดดอกเบี้ย ค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าลง ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ก็เป็นภาคเอกชน แต่หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ก็จะต้องใช้นโยบายการคลัง ที่มีผลแรงกว่า ซึ่งที่ผ่านมาคลังก็ดำเนินการมาต่อเนื่อง ทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ.

ชี้ลดดอกกระตุ้นส่งออก'สมหมาย'เตรียมชงครม.ฟันหน่วยงานหลุดเป้า

   บ้านเมือง : 'สมหมาย'เตรียมชง ครม.ฟันหน่วยงานหลุดเป้า พร้อมระบุลดดอกเบี้ยกระตุ้นส่งออก ขณะที่ ครม.ไฟเขียวงบบริหารจัดการน้ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท พร้อมมอบให้ 3 กระทรวงร่วมบริหารจัดการ เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน 'ประยุทธ์'กำชับ'กษ.-มท.-ทส.'ดูแลเกษตรกรช่วงภัยแล้งเต็มที่

   นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทางสำนักงบประมาณจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ดำเนินการไม่เสร็จในปีงบประมาณ 2557-2558 ว่า จะมีการเร่งรัดหน่วยงานต่างๆ เบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย จะมีการปรับเงื่อนไขอย่างไร โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในกำหนดระยะเวลา จะมีการรวมงบประมาณส่วนดังกล่าว เพื่อจัดสรรไปใช้ในโครงการอื่นอย่างไร

    ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา ทำให้การนำเข้าสินค้าที่ส่งออกจากไทยน้อยลง ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยก็มีคู่แข่งจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ส่งออกของไทยก็ต้องเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน และอาจจะต้องยอมลดราคาเพื่อแข่งขันให้ได้ ในส่วนของ ธปท.ก็ดูแลนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แนวทางการลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะช่วยดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้าออกเท่านั้น

    นายสมหมาย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.5% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 2% จะไม่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไรนัก แต่จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก เนื่องจากเมื่อปรับลดดอกเบี้ยลง อัตราเงินแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าลง แต่หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ก็จะต้องใช้นโยบายการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาคลังก็ดำเนินการมาต่อเนื่อง ทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

    "ลดดอกเบี้ยแค่ 0.25-0.5% ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คลังก็ไม่ได้หมายความว่า ลดดอกเบี้ยมากกว่านั้นแล้วจะได้ผล เป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ติดตามดูแลอยู่ โดยในส่วนของกระทรวงการคลังจะยังคงมีมาตรการที่ช่วยผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะทยอยออกหลังจากนี้" นายสมหมาย กล่าว

   สำหรับ มาตรการช่วยคนจน ลดความเหลื่อมล้ำนั้น ในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการทยอยเสนอ ครม. โดยในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง อาจจะเลื่อนออกไปอีก 1 สัปดาห์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะเสนอ ครม.สำหรับมาตรการดังกล่าวภายในเดือน ก.พ.นี้

   แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เลื่อนพิจารณาพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปอีก 1 สัปดาห์ หรือเป็นการประชุม ครม.ในวันที่ 24 ก.พ.2558 โดยยังมีสาระสำคัญในเบื้องต้นจะพิจารณารวมให้เหลือเพียงกองทุนเดียว คือ กอช. ทำให้สมาชิกประกันสังคมตามมาตรา 40 (3) จะต้องโอนมายัง กอช.ทั้งหมด โดยจะดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ

    สำหรับ ประกันสังคมมาตรา 40 (3) เป็นสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 หรือเงินบำนาญชราภาพ ให้แก่แรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยทางเลือกที่ 3 กำหนดเงินสมทบเดือนละ 200 บาท ในระยะแรกให้สิทธิแก่ ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงเดือนละ 100 บาท รัฐบาลร่วมจ่ายเงินอุดหนุน 100 บาท เท่ากับมีเงินออมเดือนละ 200 บาท โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดกว่า 1 ล้านราย

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณประจำปี 58 กว่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ โดยจะมีการปรับโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งปีนี้แหล่งน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำไม่ถึงร้อยละ 30 โดยเฉพาะพื้นที่ประสบภัยแล้ง 7 จังหวัดที่มีปัญหารุนแรงหนักทั้งน้ำอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน น้ำบาดาล ดังนั้น จึงต้องวางแผนในระยะยาว ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการโครงการที่เร่งด่วนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานก่อน โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปร่วมกันบริหารจัดการ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!