WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลัง เผยเบิกจ่าย 4 เดือนแรกปีงบ 58 เริ่มฟื้น จัดเก็บทะลุเป้า 1.1 พันลบ.

   นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-ม.ค.58) ว่า สามารถเบิกจ่ายในภาพรวมอยู่ที่ 1.01 ล้านล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายที่ 2.57 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำที่ 9.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 44.8% ของงบประมาณรายจ่าย และเบิกจ่ายงบลงทุนที่ 6.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบลงทุนที่ 4.44 แสนล้านบาท และส่วนราชการมีการก่อหนี้แล้วทั้งสิ้น 1.3 แสนล้านบาท

   สำหรับ ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกงบประมาณปี 2558 ทั้งในส่วนของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร รัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่น ๆ ทำได้สูงกว่าเป้าหมายในปี 2558 จำนวน 1.1 พันล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.6 พันล้านบาท โดยกรมสรรพสามิตเป็นเพียงกรมเดียวที่ยังสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย ราว 1.2 พันล้านบาท ส่วนกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าที่ลดลงเฉลี่ย 3-4 พันล้านบาทต่อเดือน และกรมศุลกากรจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท

  "ที่ผ่านมาภาครัฐมีการเร่งเบิกจ่ายทั้งจากงบประมาณ เงินลงทุนรัฐวิสาหกิจและเงินกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยจากข้อมูลพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เม็ดเงินเข้าสู่ระบบแล้วกว่า 1.3 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นเม็ดเงินจากงบประมาณราว 9.6-9.7 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยในแง่ของความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น การส่งออกก็กลับมาดีขึ้น การท่องเที่ยว และเครื่องยนต์อื่น ๆ กลับมาเดินหน้าได้ดีขึ้น" นายวิสุทธิ์ กล่าว

   นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยการรวมกฎหมาย 7 ฉบับให้เหลือฉบับเดียวและปรับวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่เป็นใช้ราคาขายปลีกแนะนำ จากปัจจุบันใช้ราคาหน้าโรงงานและราคาขายส่งช่วงสุดท้ายในการคำนวณภาษี ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะกังวลแนวทางดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ขณะที่การจัดเก็บภาษีใหม่ๆ อาทิ ภาษีชาเขียว ภาษีสิ่งแวดล้อมนั้น ยังไม่ขอพูดในรายละเอียด คงต้องมีการหารือกันก่อน

                        อินโฟเควสท์

ชงครม.ฟันหน่วยงานหลุดเป้า 'คลัง'ชี้ลดดอกเบี้ยกระตุ้นส่งออก

     แนวหน้า : นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทางสำนักงบประมาณจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ดำเนินการไม่เสร็จในปีงบประมาณ 2557-2558 ว่า จะมีการเร่งรัดหน่วยงานต่างๆ เบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย จะมีการปรับเงื่อนไขอย่างไร โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในกำหนดระยะเวลา จะมีการรวมงบประมาณส่วนดังกล่าว เพื่อจัดสรรไปใช้ในโครงการอื่นอย่างไร

    ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา ทำให้การนำเข้าสินค้าที่ส่งออกจากไทยน้อยลง ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยก็มีคู่แข่งจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ส่งออกของไทยก็ต้องเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน และอาจจะต้องยอมลดราคาเพื่อแข่งขันให้ได้ ในส่วนของ ธปท.ก็ดูแลนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แนวทางการลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะช่วยดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้าออกเท่านั้น

    นายสมหมาย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.5% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 2% จะไม่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไรนัก แต่จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก เนื่องจากเมื่อปรับลดดอกเบี้ยลง อัตราเงินแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าลง แต่หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ก็จะต้องใช้นโยบายการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาคลังก็ดำเนินการมาต่อเนื่อง ทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

    "ลดดอกเบี้ยแค่ 0.25-0.5% ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คลังก็ไม่ได้หมายความว่า ลดดอกเบี้ยมากกว่านั้นแล้วจะได้ผล เป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ติดตามดูแลอยู่" โดยในส่วนของกระทรวงการคลังจะยังคงมีมาตรการที่ช่วยผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะทยอยออกหลังจากนี้" นายสมหมาย กล่าว

    สำหรับ มาตรการช่วยคนจน ลดความเหลื่อมล้ำนั้น ในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการทยอยเสนอ ครม. โดยในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง อาจจะเลื่อนออกไปอีก 1 สัปดาห์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะเสนอ ครม.สำหรับมาตรการดังกล่าวภายในเดือน ก.พ.นี้

    แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เลื่อนพิจารณาพร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)ไปอีก 1 สัปดาห์ หรือเป็นการประชุม ครม.ในวันที่ 24 ก.พ.2558 โดยยังมีสาระสำคัญในเบื้องต้นจะพิจารณารวมให้เหลือเพียงกองทุนเดียว คือ กอช. ทำให้สมาชิกประกันสังคมตามมาตรา 40(3) จะต้องโอนมายัง กอช.ทั้งหมด โดยจะดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ

    สำหรับ ประกันสังคมมาตรา 40(3) เป็นสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 หรือเงินบำนาญชราภาพ ให้แก่แรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยทางเลือกที่ 3 กำหนดเงินสมทบเดือนละ 200 บาท ในระยะแรกให้สิทธิแก่ ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงเดือนละ 100 บาท รัฐบาลร่วมจ่ายเงินอุดหนุน 100 บาท เท่ากับมีเงินออมเดือนละ 200 บาท โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดกว่า 1 ล้านราย

รมว.คลัง มองอินโดลดดอกเบี้ยไม่น่าส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก

    นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวานนี้ว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ดูแลอยู่แล้ว

    ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้ดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากผู้รับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า คงต้องขอเวลาพิจารณารายละเอียดสัก 2 วัน เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ก่อนหน้านี้ได้มอบนโยบายให้ รมช.คลัง ที่กำกับดูแลกรมบัญชีกลางไปแล้ว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!