WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ข่าวร้ายถล่ม-ส่งออกแย่-หนี้สูง-กำลังซื้อหด เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยาก

     แนวหน้า : 'สมหมาย'ยอมรับข่าวระเบิดกระทบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอชี้ฟื้นตัวยาก เหตุส่งออก การบริโภคในประเทศยังไม่ดีขึ้น

    เพราะหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ไม่กล้าจับจ่าย ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรไม่มีกำลังซื้อ มีปัญหาในการจ่ายหนี้ ธนาคารโลกเตือนตลาดเงินผันผวน การค้าโลกยังอ่อนแอ

    นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยถึงผลกระทบความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ระเบิดบริเวณพื้นที่ของบีทีเอสเชื่อมห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อคืนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะมากหรือน้อยยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากหลังเกิดระเบิดได้มีการปล่อยข่าวลือ เช่น ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็กล่าวหาว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อคงกฎอัยการศึก ก็ต้องให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคง ว่าการระเบิดเกิดจากอะไร เพื่อให้เกิดความมั่นใจจะได้ไม่ต้องไปตีความต่างๆ กัน

    กลุ่มธนาคารโลกและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2015 โดย นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนายั่งยืน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เพราะปัจจัยในประเทศยังกดดัน แม้ว่าราคาน้ำมันลดลงมามาก แต่มีผลต่อการบริโภคในประเทศน้อยเพราะไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า ประกอบกับหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลสูง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้ภาคหลักคือเกษตรกรยังไม่มีกำลังซื้อและมีปัญหาในการชำระหนี้

   ขณะที่รัฐบาลยังไม่กล้าออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจจะสูงขึ้น ทำได้เพียงกระตุ้นการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งหวังว่าโครงการเหล่านี้จะเป็นไปตามแผน แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้ามากกว่า ดังนั้นเศรษฐกิจในปีนี้ยังคาดหวังได้ยาก ประกอบกับการส่งออกของไทยที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักลดลง มีปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน หากจะแก้ไขปัญหาจะต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นการลงทุนดังกล่าว

    นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจ หรือจีดีพี ของประเทศไทย ในปี 2558 น่าจะเติบโต 3.5-4% ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2557 เนื่องจากการเมืองมีความมั่นคง และรัฐบาลมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุน ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น เมื่อรวมผู้ว่างงานเดิมกับผู้เรียนจบใหม่ คาดว่าอัตราการว่างอยู่ที่ 0.8-1% หรือประมาณ 400,000 คน กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีกว่า 100,000 คน โดยรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ต้องหาทางส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ รวมทั้งขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60-65 ปี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ

   นายอาญาน โคส ผู้อำนวยการกลุ่มแนวโน้มพัฒนาการเศรษฐกิจโลก กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 น่าจะเติบโต 3.5% สูงกว่าปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 0.5% ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าขยายตัว ได้ 3% สูงกว่าปีที่ผ่านมา ขยายตัว 2.3% ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่แตกต่าง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกันมาก

   โดยสหรัฐอเมริกาที่มีเศรษฐกิจขยายตัวดี จะปรับขึ้นดอกเบี้ย แตกต่างจาก ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนจีน เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งความแตกต่างด้านเศรษฐกิจนี้ จะส่งผลให้ตลาดเงินยังมีความผันผวนจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวและอาจเกิดภาวะเงินฝืด

   นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกก็คือการค้าโลกที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะจากประเทศผู้ค้าน้ำมัน และสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ธนาคารโลกคาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันยังลดลงต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ราคาน้ำมันเฉลี่ย อยู่ที่ 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

   การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงถึง 40% ส่งผลดีต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ดังนั้นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ควรใช้โอกาสนี้ ปฏิรูปและลดการอุดหนุนราคาพลังงาน ส่งเสริมสวัสดิการสังคมต่างๆ แทน ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ที่ถูกผลกระทบจากราคาน้ำมันลดลงทำให้เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้แย่ลง ควรจะกระจายแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจทั้งในระยะกลางและระยะยาว จากเดิมที่เคยพึ่งพารายได้จากน้ำมันมากเกินไป

ข่าวร้าย ศก.ไทยฟื้นตัวยากทีดีอาร์ไอ ยอมรับปัญหารุมส่งออก-การบริโภคไม่ดี

    บ้านเมือง : เศรษฐกิจปี 2558 ยังไม่ฟื้นตัว เหตุส่งออก-การบริโภคในประเทศยังไม่ดีขึ้น รัฐบาลไม่กล้าออกมาตรการกระตุ้นมากนัก เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเห็นผลอีก 2-3 ปีข้างหน้า แนะเพิ่มความสามารถแข่งขันลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะที่ ธนาคารโลก คาดการณ์ จีดีพีเศรษฐกิจไทยปีนี้ โต 3.5%

   นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนายั่งยืน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เพราะปัจจัยในประเทศยังกดดัน แม้ว่าราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมามาก แต่มีผลต่อการบริโภคในประเทศน้อย เนื่องจากไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า ประกอบกับหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลสูง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงทำให้ภาคหลักของไทยคือ เกษตรกรยังไม่มีกำลังซื้อและมีปัญหาในการชำระหนี้

    ขณะที่รัฐบาลยังไม่กล้าออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจจะสูงขึ้น ทำได้เพียงกระตุ้นการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งหวังว่าโครงการเหล่านี้จะเป็นไปตามแผน แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้ามากกว่า ดังนั้นเศรษฐกิจในปีนี้ยังคาดหวังได้ยาก ประกอบกับการส่งออกของไทยที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักลดลง มีปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากผลิตสินค้าที่ล้าสมัยไม่เป็นที่นิยมของต่างประเทศ ทั้งนี้หากจะแก้ไขปัญหาจะต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นการลงทุนดังกล่าว

    ด้านนายอาญาน โคส ผู้อำนวยการกลุ่มแนวโน้มพัฒนาการเศรษฐกิจโลก กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก คาดการณ์จีดีพีเศรษฐกิจไทยปี 2558 ว่าเติบโตร้อยละ 3.5 สูงกว่าปีก่อนที่เติบโตเพียง ร้อยละ 0.5 ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 3 สูงกว่าในปีที่ผ่านมา ขยายตัวได้ ร้อยละ 2.3 ขณะที่ปีนี้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกส่วนปี 2559 ขยายตัว ร้อยละ 3.3 โดยแม้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่แตกต่าง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกันมาก โดยสหรัฐอเมริกาที่มีเศรษฐกิจขยายตัวดี จะปรับขึ้นดอกเบี้ย แตกต่างจาก ยุโรป และ ญี่ปุ่น ที่ยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนจีน เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งความแตกต่างด้านเศรษฐกิจนี้ จะส่งผลให้ตลาดเงินยังมีความผันผวนจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวและอาจเกิดภาวะเงินฝืด

   ด้าน ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น ครั้งที่ 23 ว่า วันที่ 9 ก.พ.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือการสร้างรถไฟเชื่อม 3 ประเทศระหว่างกัมพูชา ไทย และเมียนมาร์ โดยจะเป็นการสร้างด้วยขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ส่วนรูปแบบการลงทุนยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างไทย เมียนมาร์ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ไทยและเมียนมาร์ตกลงจะเชิญให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนที่ 3 ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมาร์ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกด้วย ซึ่งเชื่อว่าญี่ปุ่นจะตอบรับคำเชิญ โดยอยู่ในชั้นการหารือระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

  แนวโน้มเศรฐษกิจไทยปรับตัวดีขึ้นและเชื่อมั่นว่าจะขยายตัวร้อยละ 4 ส่วนกรณีธนาคารกลางรัสเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 3 นั้น จะไม่ส่งผลกระทบกับไทย รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เพราะภาพรวมนักท่องเที่ยวยังน่าพอใจ โดยมีตัวเลขระดับ 2.8 ล้านคนจนถึงปัจจุบัน

   ม.ร.ว.ปรีดียาธร ระบุว่า พอใจการดูแลค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงที่ผ่านมาสามารถดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี ดูได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นถึง 100 จุด แต่อัตราแลกเปลี่ยนไทยยังนิ่ง ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออกไทยปีนี้ ทำให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 4 แต่ผู้ส่งออกจะต้องทำงานหนักขึ้น เพราะผู้ซื้อมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ

   นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทย-ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยในปีที่ผ่านมามีการค้าระหว่างกันรวม 57,531 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 21,820 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 35,710 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ด้านการลงทุนประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุดในปี 2557 โดยขอรับการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ จำนวน 672 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 293,334 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของมูลค่าลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ส่วนการที่ธนาคารกลางรัสเชียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 3 นั้นไม่น่าจะมีผลกระทบต่อไทยในส่วนของการค้ามากนัก เพราะไทยมีการค้ากับรัสเชียไม่มาก แต่การที่เศรษฐกิจรัสเชียชะลอจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!