WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อีโคโฟกัส: เบิกจ่ายแป้ก รายได้หลุดเป้ารัฐละเมอ..จีดีพีปีนี้โต 4%

     ไทยโพสต์ : เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 โดยมีกรอบวงเงินรายจ่ายอยู่ที่ 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าราว 1.45 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.6%

    โดยเป็นรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปีก่อนหน้า 3.6% และรายจ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 5.44 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 1.35 หมื่นล้านบาท ลดลง 67.7% รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 6.21 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5%

   ขณะที่รายได้รวมสุทธิตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปีก่อนหน้าราว 0.2% ส่วนงบประมาณขาดดุลของปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า 1.4 แสนล้านบาท

   กรอบการจัดทำงบประมาณทั้งหมดอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.7-4.7% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.1-2.1% โดยการจัดทำงบประมาณปี 2559 จะครอบคลุม 8 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ได้แก่ การเร่งรัดการจัดทำรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ความมั่นคงแห่งรัฐ การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เติบโตอย่างเป็นธรรม การศึกษา สาธารณะสุข คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพแห่งชีวิต การจัดทำทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัย นวัตกรรม การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ส่วนอีก 1 รายการคือ ค่าดำเนินการภาครัฐ

    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาจี้ให้ส่วนราชการทั้งหมดเตรียมการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 การเบิกจ่ายค่อนข้างมีปัญหาและทำได้น้อยมาก แต่กระบวนการเบิกจ่ายทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความโปร่งใส การคำนวณราคากลางต้องเหมาะสม

    "การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลนั้น เนื่องจากรัฐบาลยังต้องมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐบาลยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้น"

   ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่พ้นช่วงมรสุมเสียทีเดียว สะท้อนได้จากตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในปี 2557 ที่ผ่านมา ที่ท้ายที่สุดมีการประเมินกันว่าอาจจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 1% ซึ่งดูเหมือนการขยายตัวของจีดีพีจะผิดจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้านี้มาก

   แม้ว่า ทุกฝ่ายจะประเมินว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้น แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นอย่างที่หวังมากนัก

   การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทำได้ไม่เต็มที่ ด้วยเวลาอันสั้น  กลายเป็นข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการ ภาคเอกชนยังคงลังเลและไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุน ขณะที่ภาคส่งออกที่เคยเป็นพระเอกก็กลายเป็นเพียงตัวประกอบที่นอกจากจะไม่มีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว ยังเป็นตัวฉุดการขยายตัวของประเทศอีกด้วย

   ดังนั้น ปัจจัยผลักดันเดียวที่เหลืออยู่คือ "การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ"

    แต่เมื่อมาดูแนวโน้มการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วงไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2558 แล้ว ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะ "งบลงทุน"ที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างสูง

    โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท ส่วนราชการเบิกจ่ายได้ 7.66 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 34.03% ส่วนวงเงินลงทุนมีเป้าหมายอยู่ที่ 4.44 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 4.12 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 9.29% ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำนักงบประมาณตั้งไว้ที่ 30%

    'มนัส แจ่มเวหา'อธิบดีกรมบัญชีกลาง ยืนยันว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนในระดับดังกล่าวถือว่า "ปกติ" แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูง เนื่องจากสำนักงบประมาณมีการตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป และที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสแรกก็จะดำเนินการได้น้อยอยู่แล้ว เพราะเป็นช่วงการทำสัญญาดำเนินการก่อสร้าง และเริ่มเบิกจ่ายเท่านั้น และจะมาเบิกจ่ายได้อย่างจริงจังและมากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป

   ดังนั้น ยังมั่นใจว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 จะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

   หลังจากที่มีแววเรื่องการเบิกจ่ายเริ่มไม่ค่อยจะดี กรมบัญชีกลางก็เดินหน้ามาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายแบบทันควัน โดยส่งผู้บริหารไปประสานกับหน่วยงานที่มีงบลงทุนจำนวนมาก เพื่อให้คำปรึกษาในการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น และมีการผ่อนผันเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การดำเนินการง่ายและเร็วขึ้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งตั้งกรรมการติดตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเบิกจ่ายงบประมาณ

    ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารัฐบาลค่อนข้าง'คาดหวัง'กับการเบิกจ่ายที่จะมาเป็นกลจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ผ่านการเร่งรัดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างที่รวดเร็วขึ้น การผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ที่เคยขึงไว้แบบตึงจัด แต่การดำเนินการทั้งหมดยังต้องอยู่ภายใต้ความโปร่งใส ตามคอนเซ็ปต์ 'ต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน'ที่ถือเป็นนโยบายเชิดหน้าชูตาของรัฐบาล'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา'ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีเป็นอย่างมากจริงๆ

   ขณะที่ภาพการเบิกจ่ายงบประมาณที่ดูไม่ค่อยดีนัก ในภาพของการจัดเก็บรายได้ในไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2558 ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยต่างกันเท่าใด โดยเฉพาะผลงานของ 3 กรมจัดเก็บภาษี อย่าง กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายรวมกันราว 1.5 หมื่นล้านบาท

   โดยกรมสรรพากร 'คว้าแชมป์' จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายสูงที่สุด 9.9 พันล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 3.8 พันล้านบาท และกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.4 หมื่นล้านบาท

    เหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นเพราะนอกจากปัจจัยภายในที่ไม่มีอะไรเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศได้อย่างโดดเด่นแล้ว ปัจจัยต่างประเทศก็เหมือนจะไร้วี่แววเช่นเดียวกัน

    โดย 'สมหมาย ภาษี' รมว.การคลัง แจงว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังอยู่ในความรู้สึกซึมๆ ไม่คึกคัก เพราะมีปัจจัยลบหลายตัวที่เข้ามาดึงเศรษฐกิจไทยเอาไว้ ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับลดลงกว่าที่คาด ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยต่างประเทศก็ไม่มีอะไรเข้ามาช่วยกระตุ้นได้เลย ทั้งหมดล้วนมีแต่ปัจจัยลบที่จะเข้ามากระทบกับไทยทั้งสิ้น

    ส่วนภาพการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2558 นั้น ก็พบว่ายังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และเบิกจ่ายจริงได้น้อยมาก ทำให้ความหวังที่จะใช้มาตรการดังกล่าวกระตุ้นเศรษฐกิจก็ทำไม่ได้ และยิ่งภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ และมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้นด้วย โดยมีผู้ประกอบการภาคส่งออกเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเลขส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 3-3.5%  เพราะบรรยากาศเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศไม่ดีเอาเสียเลย

    ขณะที่หัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจอย่าง'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล' รองนายกรัฐมนตรี กลับมองภาพเศรษฐกิจไทยปี 2558 ค่อนข้างสดใส สว่างไสว ไม่มีปัจจัยอะไรน่าเป็นห่วงและไม่ได้เงียบๆ และซึมๆ อย่างที่หลายฝ่ายกังวล โดยหลังจากที่ได้หารือกับภาคเอกชนแล้ว ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังคงคึกคัก ขณะที่การเบิกจ่ายก็ไร้ปัญหา เบิกจ่ายได้คล่องไม้คล่องมือดี ทุกอย่างทำได้ดี

   โดยในปี 2558 'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร'ยังมั่นใจและเชื่อมั่นว่าเศรษฐ กิจไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% ด้วยเหตุผลสำคัญคือ'การเบิกจ่ายที่เป็นไปตามเป้าหมาย' ขณะที่'การลงทุนของภาครัฐยังเดินหน้าได้ต่อเนื่อง' ทำให้เอกชนเชื่อมั่นและทยอยลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

   ถือเป็นเรื่องที่'น่าแปลกใจ'อยู่ไม่น้อย ที่'ทีมเศรษฐกิจ'ของรัฐบาลชุดนี้กลับมองภาพเศรษฐกิจของไทยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

   เพราะในมุมของกระทรวงการคลัง ยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 มีปัจจัยที่น่าเป็นห่วงเยอะ โดยเฉพาะการเบิกจ่าย ที่สะท้อนออกมาจากผลการเบิกจ่ายที่ส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มาก จนต้องเร่งกระตุ้นให้ส่วนราชการและภาครัฐเดินเครื่องการเบิกจ่าย การจัดซื้อจัดจ้างอย่างจริงจังมากขึ้น ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ยังยืนยันหนักแน่นว่า จีดีพีปีนี้ไม่หนี 4% แน่นอน จากกำลังสำคัญเรื่องการเบิกจ่ายที่ 'ทำได้ดี'ไม่มีที่ติ

    กลายเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปอีกว่า แท้จริงแล้วภาพเศรษฐกิจไทยควรมีทิศทางเป็นอย่างไรกันแน่ ประจักษ์พยานอย่างตัวเลขการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ถือเป็นตัวชี้วัดได้สำคัญว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะยังติดหล่มอยู่ ไม่ได้เดินหน้าไปได้เร็วและแรงอย่างที่บางฝ่ายคาดการณ์ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ที่ภาพรวมเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีอย่างที่คาด และระดับการเติบโตของตัวเลขจีดีพีก็ทำได้ต่ำกว่าที่ประเมินด้วย

    สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อจากนี้ คือ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไป จะพิจารณาจากภาพเศรษฐกิจในมุมของ 'ใคร'เป็นหลัก จะมองจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง ปัจจัยลบ ปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยเสริม ทั้งหมด หรือมองเพียงว่าโดยพื้นฐานแล้ว เรามีศักยภาพ เราโตได้สูง..เท่านั้น!!.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!