- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 26 January 2015 07:49
- Hits: 2373
คลังแนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย รับมือคิวอียุโรปอัดเงินเข้าระบบ
แนวหน้า : นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 7.2 แสนล้านยูโร และการอัดฉีดจากธนาคารกลางญี่ปุ่นเฉลี่ยปีละ 6 แสนล้านยูโร ถือเป็นปริมาณเงินที่ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งจะทำให้เงินไหลเข้ามาในไทยมากขึ้นจนตลาดเงินตลาดทุนเกิดความผันผวน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรดูแลอย่างใกล้ชิดโดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง
การที่อีซีบีออกมาตรการคิวอีอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยน ในระยะต่อไปอ่อนค่าลง เกิดการผันผวนตลาดเงินและตลาดทุนโดยจะมีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ในภูมิภาคอื่นมากขึ้น ในส่วนของไทยเองการที่มีเงินไหลเข้ามามากเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้การขยายตัวของภาคการส่งออกในปีนี้ลดลง
“การดูแลความผันผวนผ่านนโยบายการคลังก็จะทำอย่างเต็มที่ ในปีนี้จะพยายามเร่งรัดรายจ่ายประจำและงบลงทุน ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการลงทุนที่เน้นดูแลสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตในชนบท กระทรวงการคลังก็จะทำเรื่อยๆ และทำอย่างเต็มที่”นายสมหมาย กล่าว
รมว.คลังยอมรับว่าเป็นห่วงภาคการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการคิวอี ผู้ส่งออกต้องแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจากการติดตามค่าเงินในภูมิภาค การแข็งค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้แข็งค่าเฉพาะค่าเงินบาทอย่างเดียว ขณะที่ผลดีจากมาตรการคิวอี จะทำให้ประชาชนทั้งในยุโรป และญี่ปุ่น มีกำลังบริโภคมากขึ้น ก็จะสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มาตรการคิวอีเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่วงเงินเพิ่มจาก 5 แสนล้านยูโร เพิ่มเป็น 1.1 ล้านล้านยูโร ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในทันที 1% ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.3% นับว่าแข็งค่ามาก แต่คงแค่ระยะสั้น ธปท.ต้องดูแลค่าเงินไม่ให้เกิดความผันผวนรวมทั้งต้องจับตาผลกระทบต่อค่าเงินจากกรณีที่กรีซจะเลือกตั้งในวันที่ 25 มกราคมนี้อีกครั้ง หากกรีซออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ก็จะเกิดความผันผวนในตลาดการเงินเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการออกมาตรการคิวอีกระทบต่อการส่งออก ผู้ประกอบการต้องทำประกันความความเสี่ยงจากตลาดการเงินที่มีความผันผวนไปทั่วโลก เบื้องต้นมองการขยายตัวการส่งออกทั้งปีที่ 2-3% โดยในช่วงที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่า และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ถือเป็นโอกาสการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร เพื่อก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ จึงได้รับผลดีในการนำเข้าวัตถุดิบการผลิตต่างๆ เพื่อให้มีต้นทุนถูกลง คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงนำเรื่องดังกล่าวพิจารณาควบคู่กับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศ
“เป็นโอกาสดีสำหรับผู้นำเข้า เพราะค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง ในทางกลับกันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้เป็นโอกาสเน้นงบลงทุนมาก ซึ่งเศรษฐกิจปีนี้จะพึ่งการส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ดีอย่างที่คาด โดยการออกมาตรการคิวอีของอีซีบีนั้นจะทำให้เม็ดเงินไหลมากขึ้น แต่มองว่า กนง.ไม่มีแรงกดดันขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเงินเฟ้อยังต่ำ จากราคาน้ำมันลด” นายเอกนิติกล่าว
ชงแบงก์ชาติลดดอกคุมบาท คลังจ่อของบ 1 แสน ล.รับเศรษฐกิจผันผวนอุ้ม ปชช.
บ้านเมือง : นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินสู่ระบบ (QE) 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน นับว่าการอัดฉีดเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจใกล้เคียงกับญี่ปุ่น จึงส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินตลาดทุนไปหลายประเทศทั่วโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเอเชียรวมถึงไทย ยอมรับว่าทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นบ้าง จนกระทบกับผู้ส่งออกให้มีรายได้จากการส่งออกลดลง แต่ค่าเงินของประเทศในภูมิภาคได้แข็งค่าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับ การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไปนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยังสามารถบริหารจัดการได้ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เพื่อลดแรงกดดันต่อกระแสนเงินทุนไหลเข้า ขณะที่กระทรวงการคลังจะใช้นโยบายการคลังช่วยดูแลอีกด้านหนึ่ง คือการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่ออัดฉีดเงินออกสู่ระบบ
ในขณะนี้ กระทรวงการคลังมีแนวคิดในการกันสำรองวงเงินงบกลางรายจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนจำเป็น ไว้สำหรับแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนโดยเฉพาะ เช่น ใช้สำหรับช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะกันสำรองไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามจะมีการใช้ในปีงบประมาณ 2559 หรือไม่นั้น ยังต้องมีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวยังถือเป็นการควบคุมวินัยการคลังอีกด้วย
นายสมหมาย กล่าวในงานสัมมนา "การเตรียมพร้อมรองรับการประกาศใช้ พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ" ว่า จากปัญหาการนำเงินนอกงบประมาณไปใช้ในการหวังผลทางการเมือง เช่น ให้ธนาคารของรัฐ คือ ธ.ก.ส. กู้เงินจากแหล่งอื่น หรือการใช้เงินของ ธ.ก.ส.เพื่อนำเงินไปใช้จำนำข้าว จนมีผลขาดทุน 5-6 แสนล้านบาท และมีภาระหนี้เงินกู้จากการจำนำข้าวถึง 7 แสนล้านบาท จนส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาระหนี้ของรัฐบาล และการแบงก์รัฐเข้าไปช่วยดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐ หรือการใช้ช่องทางอื่น
ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจำเป็นต้องจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 40,000 ล้านบาทในปีนี้ จึงต้องตั้งงบประมาณชดเชยให้ทั้งหมดเพื่อชำระคืนให้กับ ธ.ก.ส.ในงบปี 59 ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงต้องเสนอกฎหมายใหม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ โดยต้องนำเงินไปใช้เงินชดเชยคืนให้กับหน่วยงานที่ขอยืมทดรองมาดำเนินโครงการให้หมดในปีต่อไป หากจะดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ยอมรับว่าคงไม่สามรถห้ามไว้ทั้งหมดเพราะอาจมีความจำเป็นในการช่วยเหลือ
รวมทั้งเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ เตรียมเสนอการจัดสรรงบกลางของนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบดูแล เพราะปัจจุบันวัตถุประสงค์ในการใช้งบกลางตั้งไว้กว้างเกินไป ทำให้ทุกหน่วยงานแย่งกันมาขอใช้งบกลางจากนายกรัฐมนตรี จึงทำให้กระทบต่อเงินฉุกเฉินในการช่วยเหลือชาวบ้านที่เสียหายนับแสนล้านบาท กระทรวงการคลังจึงต้องการเสนอให้กันเงินไว้ให้ชัดเจนสำหรับช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหากรณีฉุกเฉินจากภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วมประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งของงบกลาง สำหรับช่วยเหลือชาวบ้านสำหรับนายกรัฐมนตรีดูแล โดยจะเสนอใช้กับการใช้งบประมาณปี 59
สำหรับ การใช้เงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องร่างกฎหมายเพิ่มเติม เพราะยังต้องขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แม้ในหลายประเทศสามารถกู้ได้ หากปล่อยให้กู้ได้เองอาจมีปัญหาตามมาเพราะไม่มั่นใจนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานนักการเมืองระดับชาติ จึงต้องกำหนดกฎหมายตีกรอบไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ศศค.) กล่าวว่า ธนาคารกลางยุโรปได้อัดฉีดเงินออกสู่ระบบจำนวนมากสูงเกินที่ตลาดคาดการณ์ 5 แสนล้านยูโร เพิ่มเป็น 1.1 ล้านยูโร หรือประมาณ 60,000 ล้านยูโรต่อเดือน จนส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในทันที แต่เมื่อเงินทุนไหลออกไปต่างประเทศ เพื่อลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 0.3% นับว่าแข็งค่ามาก แต่คาดว่าคงแกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่ง ธปท.จะต้องเป็นผู้ดูแลค่าเงินไม่ให้เกิดความผันผวน
โดยยังต้องจับตาผลกระทบต่อค่าเงินจากกรณีที่กรีซจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 25 ม.ค.นี้อีกครั้งว่าผลออกมาเป็นอย่างไร หากพรรคฝ่ายค้านที่ต่อต้านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปและไอเอ็มเอฟ กรีซอาจต้องขอออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป และยังเจอปัญหาเงินอียูอ่อนค่า ตลาดการเงินในอียูจึงมีความผันผวน