- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 17 October 2022 17:13
- Hits: 2123
กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ระหว่างวันที่ 19–20 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า ในระหว่างวันที่ 19–20 ตุลาคม 2565 จะมีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงเทพมหานคร โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 ท่าน จาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วยการประชุม ดังนี้
1. การประชุม APEC FMM อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ในวันที่ 19 ตุลาคม 2565 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และประเด็นนโยบายสำคัญที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2. การประชุม APEC FMM ในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 มีประเด็นหารือสำคัญ ได้แก่
2.1 การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน ความท้าทายต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการดำเนินนโยบายของเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศจะเป็นผู้นำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม ได้แก่ ผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และหน่วยงานสนับสนุนด้านโยบายเอเปค (APEC Policy Support Unit)
2.2 การหารือในประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลโดยที่ประชุมจะได้พิจารณารับรองเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นข้างต้น เช่น การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การสนับสนุนแหล่งเงินทุนทางการคลัง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในงานด้านการคลังการเชื่อมโยงระบบการโอนและการชำระเงิน เป็นต้น ในการนี้ ไทยจะนำเสนอรายงานผลลัพธ์จากการสัมมนาเรื่องการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความยั่งยืนในตลาดทุน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัล ที่ได้หารือไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดขอนแก่น ให้ที่ประชุมได้รับทราบ
2.3 การหารือประเด็นสืบเนื่องภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ได้แก่ ความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู (Implementation of Cebu Action Plan: CAP)ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการสนับสนุนการรวมกลุ่มด้านการเงินและการคลังของเอเปค พร้อมทั้งรับรองยุทธศาสตร์การนำแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ (New Strategy for Implementation of the CAP: New CAP) รวมทั้งจะมีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี (Joint Ministerial Statement) ครั้งที่ 29 ด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงกลางวันของวันที่ 20 ตุลาคม 2565 จะมีการประชุม APEC Business Advisory Council’s Executive Dialogues with APEC Finance Ministers ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคหรือผู้แทน และผู้แทนจากภาคเอกชนเอเปค โดยจะมีการหารือในประเด็นการเข้าถึงการเงินดิจิทัลอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมถึงข้อเสนอแนะในด้านการเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถนำข้อหารือต่างๆ ที่ได้รับจากการประชุม APEC FMM มาจัดทำเป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสภาพแวดล้อมด้านการเงินที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเงินและการคลังได้ต่อไปในอนาคต เช่น การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนที่แพร่หลายมากขึ้น การนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในการส่งผ่านมาตรการของรัฐอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น การเพิ่มการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างเขตเศรษฐกิจคู่ค้าต่าง ๆ เป็นต้น
ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่น ๆ กระทรวงการคลังได้เตรียมงานการจัดประชุมครั้งนี้ในด้านต่าง ๆ เช่น สถานที่จัดประชุม การเลี้ยงรับรอง การอำนวยความสะดวก ณ ท่าอากาศยาน การรักษาความปลอดภัย การประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดเตรียมกิจกรรมนอกสถานที่สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้เข้าร่วมการประชุม เป็นต้น โดยทั้งหมดได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยและพร้อมรับรองการจัดการประชุมในวันที่19 – 20 ตุลาคมนี้ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวเป็นโอกาสหนึ่งในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ พร้อมทั้งเป็นโอกาสในการนำเสนอศักยภาพของไทยในการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการจัดประชุมระหว่างประเทศ
สำหรับ การประชุม APEC FMM ครั้งต่อไป สหรัฐอเมริกาจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2566
การประชุมเต็มคณะของผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2565
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะของผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Plenary Session) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้รับฟังถ้อยแถลงของนาย David Malpass ประธานธนาคารโลกและนาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เกี่ยวกับแนวนโยบายสนับสนุนประเทศสมาชิกของทั้งสององค์กรในการดำเนินการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา
นาย David Malpass ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อเนื่องทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และการศึกษา โดยรายได้เฉลี่ยของประชากรทั่วโลกลดลงกว่าร้อยละ 4 ในปี 2563 นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการอ่อนค่าของสกุลเงินส่งผลในเชิงลบต่อการปรับใช้นโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการศึกษา สุขภาพ การดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของหนี้ของประเทศที่มีรายได้ต่ำ
ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกธนาคารโลกได้จัดตั้งกองทุนตัวกลางทางการเงิน (Financial Intermediary Fund: FIF) สำหรับการป้องกัน การเตรียมพร้อม และการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ในอนาคต รวมทั้งธนาคารโลกเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกประสานงานและดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านอาหารโดยการเพิ่มการผลิตทั่วโลกและช่วยเหลือประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร
ในขณะที่ นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวว่า ความท้าทายเร่งด่วนที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกในวงกว้างคืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และมีความเห็นว่า นโยบายทางการเงินควรมีความเข้มงวดขึ้น และนโยบายการคลังควรเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงกลุ่มเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ซึ่งควรนำมาปรับใช้ชั่วคราวเท่าที่จำเป็น
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนกับนาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อรับฟังรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งได้หารือถึงบทบาทของ IMF ที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับ นาย Grant Robertson รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนิวซีแลนด์ เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินระหว่างสองประเทศ โดยจะร่วมกันส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน นอกจากนี้ ได้หารือประเด็นความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคที่ไทยผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล
กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3627