WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ชี้งบลงทุนรัฐไม่ไหลลื่นเศรษฐกิจนิ่งแน่-นโยบายดอกเบี้ยต้องรอบคอบ

    แนวหน้า  ชี้งบลงทุนรัฐไม่ไหลลื่นเศรษฐกิจนิ่งแน่-นโยบายดอกเบี้ยต้องรอบคอบ คลังเตือนปี’58 ตลาดเงินป่วน

    กระทรวงการคลังชี้ ปี’58 ต้องระวังความผันผวนในการเงิน เหตุตลาดไปคนละทาง ชี้สหรัฐเศรษฐกิจฟื้น มีแนวโน้ม ลดคิวอี ขยับดอกเบี้ย ส่วน ยุโรป จีน ณี่ปุ่น ยังแย่ต้องอัดเม็ดเงินเข้าระบบอีก ส่งผลค่าเงินปั่นป่วน ขณะที่ไทยต้องพึ่งการลงทุนจากโครงการรัฐ จีดีพี โตได้ 4% งบราชการต้องเข้าระบบ 3-4 แสนล้าน รัฐวิสาหกิจอีก 2.9 แสนล้านต้องคืบหน้า

    นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี อัตรา 4% ต่อปี เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.4% ต่อปี เมื่อคิดเฉลี่ย 2 ปีรวมกันเศรษฐกิจไทยโตได้ไม่ถึงปีละ 3% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่โต 4.5% ต่อปี

    ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจในปี 2558 จะเจอผลกระทบกับความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดการเงินและตลาดหุ้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และคาดว่าจะลดมาตรการคิวอีลงอีก ทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เงินทุนไหลออกจากไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง

     ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยูโรโซนมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากทุกประเทศในยุโรปต้องพึ่งเยอรมนีเป็นหลัก ซึ่งเศรษฐกิจยุโรปมีปัญหามาก คาดว่าอาจจะต้องทำมาตรการคิวอีเพิ่มขึ้นอีก เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในภาวะถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 2 และ 3 ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส คาดว่าเมื่อได้รัฐบาลใหม่จะมีการดำเนินการมาตรการคิวอีเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินทุนผันผวนมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจจีนย่ำแย่กว่าที่คิด มีการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และจีนยังมีความเสี่ยงฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวิกฤติปี 2540

    “ปีหน้าตลาดเงินตลาดทุนจะมีความผันผวนมากขึ้น เพราะนโยบายการเงินของโลกในปีหน้าจะมี 2 ทิศทาง คือเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะเห็นทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่อาจทำให้เม็ดเงินไหลกลับไปยังสหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท ขณะเดียวกันยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ จะใช้มาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเทียบกับ ยูโร และเยน ดังนั้น ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าต้องใช้ความระมัดระวัง”

    นายเอกนิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี2558จะโตได้มากกว่า 4% ต้องขึ้นอยู่กับมาตรการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนของหน่วยราชการ 3-4 แสนล้านบาท และ งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 2.9 แสนล้านบาท ที่จะเข้าสู่ระบบในปีหน้า หากทำได้ตามเป้าหมายอาจทำให้เศรษฐกิจโตได้มากว่า 4% เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากราคาสินค้าเกษตรของไทยตกลง เป็นปัญหาให้ เกษตรกรมีรายได้ลดลงตามไปด้วย

     “นโยบายด้านการคลังมีความสำคัญมาก โดยรัฐบาลจะต้องเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2558 ที่ต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีกว่า 290,000 ล้านบาท เนื่องจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน เริ่มเข้าสู่ระบบตั้งแต่ไตรมาส 3/2557 แล้ว แต่ยังขาดการลงทุนของภาครัฐที่จะเป็นแรงสนับสนุนจีดีพีปีโตเพิ่มขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาการลงทุนของภาครัฐเป็นตัวฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐควรจะเร่งลงทุน ในช่วงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ”

     นอกจากนี้ นโยบายการเงินต้องมีความจำเป็นสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2% ต่อปี เพราะขณะนี้เงินเฟ้อไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการนโยบายดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากดอกเบี้ยระยะสั้นในประเทศ อยู่ในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ดอกเบี้ยระยะยาวโดยเฉพาะพันธบัตร อายุ 10 ปีขึ้นไป ดอกเบี้ยเป็นไปตามดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ

     ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการลดดอกเบี้ยนโยบาย ของจีน ว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาชะลอลงตามที่ ธปท.ประเมินเอาไว้ โดยทางการจีนดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงิน เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลง โดยการปฏิรูปภาคการเงินที่สำคัญ คือ การควบคุมแหล่งเงินทุนในภาค Shadow Banking ซึ่งลดปริมาณการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและการควบคุมระดับหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่มีการกู้เงินนอกงบดุลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละมณฑล ซึ่งจะลดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้ ทางการยังดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจจริง เพื่อลดการพึ่งพาการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพและเพิ่มบทบาทการบริโภคด้วย

     นายจิรเทพ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนชะลอลงตามการลงทุน โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนตุลาคมขยายตัว 15.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจาก 16.1%

     ในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอลงต่อเนื่องจากกำไรภาคธุรกิจที่ปรับลดลงและความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งทางการจีนเข้ามาดูแลโดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ (SOEs) ซึ่งมีสัดส่วนการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์สูง

     ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนเหนือความคาดหมายของ ธปท. และตลาด โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนเพียงเล็กน้อย และปริมาณสินเชื่อไม่น่าจะปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีข้อจำกัดจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit Ratio) แต่จะเป็นการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของ SOEs ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินของจีน อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยแท้จริงหลังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นบวก

    “ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 7-7.5% จากการควบคุมความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และนโยบายปรับสมดุลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Rebalancing) โดยน่าจะเป็นการชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสะท้อนจากการออกมาตรการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเดินหน้าปฏิรูปอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้เหมาะสม”

ชู'ลงทุน-ท่องเที่ยว'ฟื้นเศรษฐกิจ ส่งออกต.ค.พลิกบวก4%ขยายตัวสูงสุด 21 เดือน

      ไทยโพสต์ * 'สมหมาย'แนะรัฐหันสนับสนุนภาคลงทุน-ท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ หลังการส่งออกยังอยู่ในถ้ำ หดตัวตามเศรษฐกิจโลก คลังคาดจีดีพีปีหน้าขยายตัวได้ 4% ส่งออก ต.ค.พลิกบวก 4% สูงสุดรอบ 21 เดือน'ฉัตรชัย'มั่นใจทั้งปียังเป็นบวก

      นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา "ปฏิรูปส่งออกอย่างไร ให้ความ เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยกลับคืน มา" จัดโดยมหาวิทยาลัยกรุง เทพ ว่า ขณะนี้ภาคการส่งออก ของไทยอยู่ในช่วงชะลอตัว และระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากคู่แข่งจากตลาดต่างๆ ทั่วโลกที่มีมากขึ้น ดังนั้นไทยอาจจำเป็นต้องมาพิจารณาลดบทบาทของภาคการส่งออกในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศลง และหันมาเพิ่มบทบาทของภาคส่วนอื่นๆ แทน เช่น การพึ่งพาภาครัฐมากขึ้น ผ่านโครงการลงทุนต่างๆ และภาคการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้สูงอย่างมากเมื่อเทียบกับภาคการส่งออก

     "ส่งออกไทยตอนนี้เหมือน อยู่ในถ้ำ ดังนั้นการพึ่งพาภาคส่วนนี้จึงต้องดูให้ดี พิจารณาให้รอบคอบ ว่าที่ผ่านมานโย บายสนับสนุนภาคส่งออกของ ไทยเดินมาถูกทางหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเราเดินผิดทางมา พอสมควรแล้ว การเป็นประ เทศที่รับจากผลิตเพื่อส่งออกมากเกินไป อาจไม่ใช่แนวทางสำคัญในขณะนี้ แต่การสนับ สนุนให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญมากกว่า" นายสมหมายกล่าว

    ส่วนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการพิจารณาปรับเปลี่ยน ยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มองว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะจะช่วยลดการสูญเสียรายได้จากภาษี และอื่นๆ ไปค่อนข้างมาก จากที่มีการประ เมินว่า ในปี 2558 หากไม่มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านบีโอไอ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ทั้งจากการลดหย่อน และภาษีต่างๆ สูงถึง 2.12 แสนล้านบาท ในส่วนนี้เป็นรายได้จากภาษีศุลกากรถึง 1.5 หมื่นล้านบาท

     นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำ นักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังคาดว่า ปี 2557 การส่งออกของไทยจะขยายตัว 0.1% โดยช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา การส่งออกยังติดลบ เนื่องจาก 1.ราคาสินค้า โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ชะลอตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมัน 2.ตลาดส่งออกหลัก ยังอยู่ในช่วงไม่ฟื้นตัว ขณะที่ปี 2558 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ระดับ 3.5%

     อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะขยายตัวที่ 4% เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.4% ต่อปี เมื่อคิดเฉลี่ย 2 ปีรวมกัน เศรษฐกิจไทยโตไม่ถึงปีละ 3% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐ กิจไทยที่ควรโต 4.5% ต่อปี

    พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกสินค้าไทยเดือน ต.ค.2557 มีมูลค่า 20,164 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.97% ซึ่งขยายตัวสูงสุดในรอบ 21 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2556 การนำเข้ามีมูลค่า 20,132 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.88% ไทยเกินดุลการค้า 31.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

   สำหรับ ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 1.90 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.36% การนำเข้ามีมูลค่า 1.92 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.49% ไทยยังขาดดุลการค้า 1,485 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเชื่อว่าการส่งออกทั้งปี 2557 จะยังขยายตัวเป็นบวก แต่ไม่เกิน 1% ส่วนปีหน้าตั้งเป้าหมายการส่งออกเติบโต 4%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!