- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 28 May 2014 23:14
- Hits: 4245
'ประจิน'ยืนยันงบประมาณปี 57 ไร้ปัญหา ยันไม่ขวางทางความเจริญ
แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าการดำเนินงานเกี่ยวกับงบประมาณปี 57 ของกระทรวงคมนาคม โดยยืนยันว่า ไม่มีปัญหา แม้ว่าบางโครงการอาจล่าช้าไปบ้าง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเร่งขับเคลี่อนในช่วงนี้ ส่วนงบประมาณโครงการที่ยังไม่มีการผูกพันธ์หรือการลงนามเซ็นสัญญาต่างๆ คาดว่า จะสามารถก่อหนี้ผูกพันธ์ได้ทันในไตรมาสที่ 4 ของปี 57 อย่างแน่นอน
โดยการขอรับความเห็นชอบขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ(งานล่าช้ากว่าแผน) ของกรมเจ้าท่า หรือ จท. จำนวน 9 โครงการ (เห็นชอบระดับรัฐมนตรี) และการขอขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันและขอปรับเปลี่ยนรายละเอียดงบประมาณของกรมทางหลวง หรือ ทล. จำนวน 9 โครงการ (เห็นชอบระดับรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี) นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงโครงการขนาดใหญ่ และการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจระหว่างการรอตัดสินใจ แบ่งเป็น
โครงการทางถนน คือ แผนงานโครงการพัฒนาทางหลวง (เร่งด่วน) อาทิ โครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) รวามถึงโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ระยะเร่งด่วน), โครงการก่อสร้างบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค, โครงการทางพิเศษ เส้นพระราม 3 ของ กทพ. เป็นต้น
โครงการทางราง ประกอบด้วย การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขต กทม. และปริมณฑล 10 สายทาง, การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ 5 โครงการ 767 กิโลเมตร, การก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ 2 เส้นทาง และการพัฒนาและเสริมประสิทธิภาพรถไฟไทย ปรับปรุงรางหมอน ระบบอาณัติสัญญาณ และจุดตัด
โครงการทางอากาศ คือ การจัดหาเครื่องบิน 38 ลำของการบินไทย, นโยบายการเร่งรัดขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมะเฟส 2 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี และการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี
โครงการทางน้ำ ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือฝั่งทะเลอันดามัน (ปากบารา) เพื่อการขนส่งสินค้า, การก่อสร้างท่าเรือสงขลา และชุมพร, การก่อสร้างท่าเรือประหยัดพลังงานที่ จ.อ่างทอง, การเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าแม่น้ำป่าสัก และการลงนามในสัญญาและอนุสัญญาต่างๆ ระหว่างประเทศ ที่เดิมต้องผ่านมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ โครงการทางบก เพื่อการขนส่งคนและสินค้า ประกอบด้วย โครงการสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้า 16 แห่ง,
โครงการรถโดยสารสาธารณะ NGV 3,183 คันของ ขสมก. (อยู่ระหว่างประกวดราคา) และการก่อสร้างอู่จอดรถจำนวน 6 แห่งของ ขสมก. วงเงิน 221 ล้านบาท
สำหรับในงบประมาณของปี 58 นั้น ขณะนี้สำนักงานงบประมาณได้จัดทำปฎิทินงบประมาณแล้ว และก็จะมีการจัดส่งคำของบประมาณของกระทรวงคมนาคมไปให้สำนักงานงบประมาณพิจารณา คาดว่าภายในเดือนก.ย.57 จะสามารถออก พ.ร.บ.งบประมาณปี 58 ได้ และก็พร้อมใช้งบประมาณได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.57 ได้เป็นต้นไป ส่วนในด้านการพัฒนาในระบบขนส่งสาธารณะด้านต่างๆจะมีการพิจารณาว่าจะมีการปรับปรุงในส่วนใดบ้างเพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้กับประชาชน ทั้งนี้ถือว่าภาพรวมการประชุมในวันนี้มีความสอดคล้องและมีทิศทางการพัฒนาในแนวทางเดียวกัน
ส่วนโครงการเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมที่ยังค้างอยู่เป็นจำนวนมากนั้นเบื้องต้นจะมีการสรุปข้อมูลและเสนอ พล.อ ประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้า คสช. ในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะมีการจัดทำข้อมูลสำหรับนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติในสัปดาห์ถัดไป และโครงการที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วนและโครงการที่อยู่ระหว่างรอ คณะรัฐมนตรีอนุมัตินั้น ทางหัวหน้า คสช. ได้ให้ความสำคัญที่จะผลักดันให้มีการเดินหน้าต่อไป แต่ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เช่นการล่าช้าในการตัดสินใจ การล่าช้าในการดำเนินการด้านต่างๆ ในส่วนนี้หากมีงบประมาณก็พร้อมที่จะเดินหน้าต่อ ส่วนโครงการใดที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่มีการใช้งบประมาณจำนวนมากจะมีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขใหม่เพื่อให้ยุทธศาสตร์ในภาพรวมสอดคล้องกันและครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการที่อยู่ในแผน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ยังไม่มีการยกเลิกหรือถอดออกจากแผนแม่บท ซึ่งทาง คสช ขอเวลา 2 สัปดาห์ในการศึกษาข้อมูลพิจารณาความสำคัญของโครงการเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆที่มีการดำเนินการไปแล้วก็จะมีการดำเนินการต่อไปแม้จะมีการเปลี่ยนผู้บริหาร อีกทั้งในส่วนของมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน อาทิ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จะมีดำเนินการในเร็วๆนี้ และจะเสนอต่อ คณะบริหารของ คสช.
"สิ่งใดที่เป็นการพัฒนาประเทศ และเป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์จะต้องดำเนินการก่อน" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
สำนักงบประมาณจะเสนอกรอบงบฯปี 58 ที่ 2.6 ล้านลบ.-ลงทุน 17.5%-ขาดดุล 2 แสนลบ.
นายสมศักดิ์ โชตรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พิจารณา เพื่อให้การจัดทำเสร็จเรียบร้อยทันตามกำหนดเวลาที่จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 22 ก.ย.57 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.57
โดยกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณปี 58 อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีงบประมาณ 57 ซึ่งจะเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลจำนวน 2 แสนล้านบาท และมีสัดส่วนงบประมาณลงทุนอยู่ที่ 17.5% ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 57
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงานประมาณปี 58 ได้แก่ สภาพัฒน์, กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 30 พ.ค.นี้
อินโฟเควสท์