- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 12 November 2014 22:13
- Hits: 2479
รมว.คลัง ยันภาษีมรดกอัตราสูงสุด 10% ไม่ใช่ปัญหา ชงครม.สัปดาห์หน้า ดันต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและเสนอแพ็กเกจภาษี คาดรายได้เพิ่มขึ้นชัดเจนปี 59-60
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.การรับมรดก ล่าสุด คงไม่สามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ในในวันที่ 12 พฤศจิกายน เพราะ พอ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่สามารถมาเป็นประธานการประชุม ครม.ได้คงต้องเลื่อนการเสนอร่างภาษีในไปสัปดาห์หน้า
ขณะนี้กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นที่ตรงกันแล้ว และในช่วง 1 สัปดาห์นี้คงจะไม่แก้ไขอะไร หากจะแก้ไขจะถกในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งการเก็บภาษีมรดกยืนยันว่า 10% เป็นอัตราสูงสุด ไม่เก็บจากบาทแรกเก็บจากมรดกที่เกินกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปต่อคนผู้รับ1 คน ซึ่งการจัดเก็บในอัตรา10% นั้นมีการรับความเห็นจากผู้ที่มีมรดกมากๆ ไปจนถึงผู้ที่มีมรดกน้อย ๆ ทุกคนพร้อมที่จะเสียภาษี
"ภาษีมรดกนี้ เป็นสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เริ่มต้นก่อน รัฐบาลก็รับช่วยดำเนินการต่อ ซึ่งการเก็บภาษีมรดกทำให้สังคมรับรู้ว่า รัฐบาลจะเก็บโฟกัสภาษีจากคนรวย ต่อไปคนระดับล่างลงมา ก็จะพร้อมจ่ายภาษีด้วย"
หลังจากภาษีมรดกแล้วจะดำเนินการในเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าครม.ในเดือนธันวาคมปีนี้ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะให้เวลาปรับตัว 1.5 ปี
นายสมหมาย กล่าวว่า ในการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นมีปัญหาใหญ่คือการจัดทำราคาที่ที่ดินรายแปลงจำนวน 32 ล้านแปลงทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในปีครึ่ง โดยจะนำกรณีดิจิตอลอีโคโนมีมาใข้ในการสำรวจ เมื่อสำรวจแล้วสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทั้ง 3 กระทวง คือกระทรวงการคลัง โดยให้กรมสรรพากร นำมาเก็บภาษีที่ดินและจัดสรรเงินให้ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยใช้ในเรื่องจัดทำภูมิลำเนาที่ถูกต้อง และกระทรวงการเกษตรแและสหกรณ์สามารถนำไปใช้วางแผนช่วยเหลือเกษตรกร
"หากภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้ ต้องยกเลิกการเก็บภาษีโรงเรือน และบำรุงท้องที่มีช่องโหว่การจัดเก็บมาก โดยขณะนี้จัดเก็บปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่มีช่องโหว่มากถ้าปิดรายได้ตรงนี้ได้จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 6-7 เท่าทำให้ฐานภาษีขยาย โดยยืนยันว่าผู้ที่มีบ้านราคา4ล้านบาท จะเสียภาษีที่ดินถูกกว่ารถยนต์"
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีแผนที่ปฏิรูปภาษีทั้งระบบ ทั้งในเรื่องกรมสรรพสามิต ที่ต้องคิดเรื่องแปลกใหม่ มาเสนอมา ทั้งภาษีไวน์ที่หนีภาษีเป็นลำเรือควรจะเก็บดีไหม ซึ่งการปฎิรูปไม่ได้คิดเรื่องรายได้ แต่จะดูไม่ให้เกิดช่องโหว่ ส่วนกรมศุลกากรต้องดูในเรื่องพิกัด กรมสรรพากร ต้องพิจารณว่าจะปรับขึ้นแวตเท่าไหร่ในปีหน้า โดยจะขอรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งการปฏิรูปภาษีที่กระทรวงการคลังดำเนินการจะส่งผลดีต่อรายได้รัฐบาลที่จะปรับขึ้นในช่วงปี 2559-60
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
เลื่อนถกภาษีมรดกสัปดาห์หน้านักวิชาการแนะรัฐรีดภาษีที่ดินห้ามโยนบาปผู้มีรายได้น้อย
บ้านเมือง : ขุนคลังเลื่อนชงภาษีมรดกเข้า ครม. คาดสัปดาห์หน้า ขณะที่นักวิชาการแนะการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องไม่ผลักภาระให้ผู้มีรายได้น้อย และตั้งกองทุนดูแลไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือนายทุน
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอร่างกฎหมายภาษีมรดกเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุม ซึ่งคาดว่าคงจะเป็นในสัปดาห์หน้า เนื่องจากในสัปดาห์นี้นายกรัฐมนตรีติดภารกิจเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำอาเซียนที่ประเทศเมียนมาร์
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะประชุม ครม.เมื่อไหร่ก็พร้อมจะเสนอเรื่องนี้ เพราะได้จัดเตรียมข้อมูลรายละเอียดพร้อมอยู่แล้ว แต่ต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายใหญ่ที่อยากให้นายกรัฐมนตรีได้รับรู้รายละเอียด ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีก็จะช่วยชี้แจงด้วย
สำหรับ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีมรดกมี 2 ฉบับ คือ ร่างกฎหมายเก็บภาษีจากผู้รับมรดก กับ ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อเรียกเก็บภาษีจากการรับ-ให้ อาจเป็นการให้กันก่อนเสียชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมรดก ยกเว้นการรับ-ให้ตั้งแต่ 1-10 ล้านบาทแรกสำหรับผู้รับมรดกที่เป็นลูก แต่ส่วนเกิน 10 ล้านบาทต้องเสียภาษีการรับ-ให้ 5% ซึ่งสามารถนำส่วนเกินไปรวมกับตอนเสียภาษีเงินได้
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ "ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทุน คน ที่ดิน" ว่า รัฐบาลตระหนักการเข้าถึงแหล่งทุนอย่างมาก แต่สิ่งที่ยังไม่ให้ความสำคัญ คือ เมื่อได้ทุนมาแล้วไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จากเงินทุนจนเป็นภาระหนี้และนำไปสู่ภาวะล้มละลายได้ สำหรับรายได้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ 20 รายแรก ทำรายได้ในสัดส่วนถึง 83% ของรายได้ภาคธุรกิจทั้งระบบในปี 2548 และเพิ่มสัดส่วนเป็น 94% ในปี 2556 ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางมีรายได้ 16% ในปี 2548 และลดลงเหลือ 10% ในปี 2556 นับว่าความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นางปัทมวดี โพชนุกูล นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะเริ่มต้นดีด้วยการจัดเก็บอัตราที่ต่ำ แต่มองว่าจะก้าวทันการซื้อขายที่ดินในปัจจุบันหรือไม่ เพราะมีการซื้อขายกันสูงมาก เช่น ตามแนวชายแดน และมองว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินจะถูกผลักภาระไปยังผู้เช่าที่ดินให้มีภาระสูงขึ้นส่งผลถึงการประกอบกิจการที่ดินซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนั้น การกระจายการถือครองไปยังเกษตรกรอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเพิ่มคุณภาพการใช้ประโยชน์จากที่ดินด้วย ประโยชน์จากที่ดินด้วย
สำหรับ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องการให้คำนึงถึงผลกระทบต่อคนจน คนมีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองหลัก เพราะเมื่อเช่าอาศัยอาจต้องมีภาระค่าเช่าสูงขึ้น และควรสนุบสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุน เพื่อให้กองทุนซึ่งตั้งขึ้นมาเองตามความต้องการของท้องถิ่นดูแลที่ดินในพื้นที่ สำหรับนโยบายการจัดโซนนิ่งการปลูกพืชทางการเกษตร มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ปาล์มน้ำมัน รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้สูงขึ้นอย่างไร ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์จากการถือครองอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับไปอยู่ในมือนายทุน
นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตนักวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรที่เป็นต้นทุนของมนุษย์ต่อระบบเศรษฐกิจของไทยนับว่ามีปัญหาในการพัฒนาคุณภาพเด็กนักเรียน เนื่องจากพบว่าคะแนนการสอบเฉลี่ยโอเน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาสอบตกทุกวิชา ขณะที่เด็กนักเรียนที่เก่งจะคะแนนสูงมากแต่ยังมีความเห็นแก่ตัว ทำให้อนาคตนำไปสู่ปัญหาใช้ความเก่งในการทุจริต ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาใช้งบประมาณด้านการศึกษาสูงมากกว่า 500,000 ล้านบาท แต่ใช้เงินที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กน้อย การซื้ออุปกรณ์การเรียนให้เกิดคุณภาพแก่นักเรียนน้อย
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องคำนึงถึงคนจน ผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยถูกผลักภาระไปให้กลุ่มดังกล่าว ควรพิจารณาว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น จะพิจารณาจากสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สิน หรือประเมินจากปริมาณทรัพย์สิน หรือคำนวณโดยเริ่มอัตราต่ำ เพราะที่ดินในเมืองจะมีมูลค่าสูง นอกจากนี้ ควรแยกให้ชัดเจนในการเก็บภาษีโรงเรือน เพราะอาคารพาณิชย์ในเมืองชั้นล่างใช้ประกอบกิจการ แต่ใช้ประโยชน์ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย และภาษีที่ดินฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการใช้เป็นเครื่องมือจัดทำโซนนิ่งปลูกพืชเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อให้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด