- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 10 November 2014 11:13
- Hits: 2668
คลังครวญแบกหนี้จำนำข้าว อ้างจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1.8 หมื่น ล.รอรัฐแยกบัญชี
บ้านเมือง : นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีภาระชำระดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาอยู่ในจำนวนที่สูง เนื่องจากมีการกู้เงินไปใช้จำนวนหลายแสนล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างหาทางแก้ไข คาดว่าจะเป็นภาระถึงคนที่เป็นเด็กในปัจจุบันจนโตขึ้นก็ต้องมาใช้หนี้ก้อนนี้
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ประมาณ 6 แสนล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ย 3% ต่อปี ทำให้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยถึง 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี หากไม่สามารถเร่งระบายข้าวเพื่อมาใช้หนี้ก้อนดังกล่าวได้ก็จะทำให้ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยจำนวนมากต่อไป
นอกจากนี้ การกู้เงินของ ธ.ก.ส.ที่ผ่านมาเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน มีการเซ็นสัญญาเป็นก้อนใหญ่ๆ และมีการทยอยเบิกเงินตามการใช้จริง ถึงจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ย มีอายุเงินกู้ 1-2 ปี ซึ่งขณะนี้มีเงินกู้เริ่มครบกำหนดทำให้ต้องต่ออายุเงินกู้ ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์เริ่มจะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น ทำให้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นตามไปด้วย
สำหรับ การแก้ปัญหาเงินกู้ โดยการออกพันธบัตรอายุ 30 ปี อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเป็นที่สนใจของตลาดการเงินจำนวนเท่าไร เพราะหนี้ก้อนใหญ่ไม่สามารถออกครั้งเดียว 6 แสนล้านบาท และยังต้องรอนโยบายจากฝ่ายการเมือง ว่าจะให้มีการแยกหนี้จำนำข้าวและออกมาเป็นกฎหมายแก้ไขเป็นการเฉพาะเหมือนกับการออก พ.ร.ก.แก้ไขหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือไม่
ด้านแหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้การปิดบัญชีรับจำนำข้าวมีความคืบหน้าใกล้สรุปได้ทั้งหมดแล้ว โดยในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ทางคณะทำงานจะเสนอผลการปิดบัญชีให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีรับทราบ ซึ่งหลักการสำคัญของการปิดบัญชีครั้งนี้ จะมีการตีราคาตามคุณภาพที่แท้จริง ว่าข้าวมีคุณภาพ ข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวเสีย ราคาเท่าไรก็นำราคานั้นมาปิดบัญชี จากเดิมที่ใช้ราคาทุนและราคาตลาดเหมือนกันทั้งหมดโดยไม่มีการแยกคุณภาพข้าว
นอกจากนี้ ในส่วนของข้าวหายก็จะมีการตัดเป็นผลขาดทุนทันที และการปิดบัญชียังรวมถึงต้นทุนดอกเบี้ย ค่าบริหารจัดการต่างๆ ทั้งหมด รวมไว้ในผลขาดทุนจากการดำเนินการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาด้วย ส่วนจะมีผลขาดทุนสูงถึง 5-7 แสนล้านบาท ตามที่นักวิชาการประเมินหรือไม่
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเพาะปลูกข้าวในฤดูนาปีของเกษตรกรหลายพื้นที่ ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีออกสู่ท้องตลาดในช่วงเดียวกันเป็นจำนวนมากเกินกว่าความต้องการ ส่งผลกระทบให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ทางกรมฯ จึงได้จัดทำ "โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58" เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเก็บ สต๊อกข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของตนเอง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางด้านการเงินของเกษตรกร เพื่อชะลอการนำข้าวเปลือกออกจำหน่าย เป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและลดปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำได้
สำหรับ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว จะดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีการเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉาง เฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียว โดยจะจ่ายเงินสินเชื่อชะลอการขายให้ชาวนา 90% ของราคาตลาด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,400 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 11,700 บาท โดยให้ค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกของเกษตรกร ตันละ 1,000 บาท เกษตรกรสามารถไถ่ถอนภายใน 4 เดือน กรณีครบกำหนดเกษตรกรไม่มาไถ่ถอน เกษตรกรจะต้องส่งมอบข้าวเปลือกให้กับรัฐบาล โดยจะได้รับค่าขนส่งอีกตันละไม่เกิน 300 บาท
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา "ความร่วมมือการค้าและการลงทุนด้านสินค้าเกษตรไทย-จีน" ในงานมหกรรมสินค้าจีนมาตรฐานส่งออก ครั้งที่ 4 (2014 ASEAN (Bangkok) China Import & Export commodities Fair) ว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้าและการลงทุน โดยเฉพาะด้านการค้า จีนถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าของไทย
สำหรับ ในปี 2556 ที่ผ่านมานั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าไปสาธารณรัฐประชาชนจีน 824,672 ล้านบาท (ร้อยละ 12) ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด 6,909,741 ล้านบาท โดยในส่วนของสินค้าเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 202,394 ล้านบาท (ร้อยละ 29) ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด 687,698 ล้านบาท