WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลัง หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 1.4%จับตาการกระตุ้นภาครัฐโค้งสุดท้าย-ปีหน้าต้องลุ้น

    บ้านเมือง : คลังทำใจลอยแพ ศก.ปีนี้-หั่นจีดีพีเหลือ 1.4% สถิติดีกว่าน้ำท่วมปี 54 เล็กน้อย ระบุเหตุจากทุกภาคส่วนมีปัญหา ต้องจับตาการกระตุ้นภาครัฐช่วงไตรมาสสุดท้าย ขณะที่ ธปท.เผยภาพรวม ศก.เดือน ก.ย.ยังฟื้นตัวช้า แต่การบริโภคเอกชน-ใช้จ่ายรัฐดีขึ้น

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 1.4% เป็นการปรับลดการขยายตัวจากล่าสุดที่คาดว่าจะโตได้ 1.5% แต่มีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มขึ้นหากในช่วงที่เหลือของปีนี้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณโครงการต่างๆ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

     ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.1% ในช่วงคาดการณ์ที่ 3.6-4.6% จากแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐ ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ อุปสงค์จากต่างประเทศ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน

     "การขยายตัวในระดับดังกล่าว ถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 0.1% แต่เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นช่วงปลายปีจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย"

     ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการดังกล่าว รวมในส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในโครงการแจกเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท และเงินช่วยเหลือราคายางพาราแล้ว

     นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2558 สศค.พิจารณา 6 สมมุติฐานหลักประกอบด้วย 1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าหลัก ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.84% จากปีนี้ 3.70% โดยคู่ค้าหลัก เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และยุโรป ยังคงชะลอตัว ประมาณการส่งออกปีหน้าขยายตัว 3.5%

   2.ค่าเงินบาทที่ยังคงมีความผันผวน แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง 3.ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังคงไม่มีแรงกดดัน โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 4.ดัชนีราคาสินค้าส่งออก นำเข้า ที่คาดว่ายังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 5.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่คาดว่าจะอยู่ที่อัตรา 2% ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2558 เนื่องจากยังไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และ 6.การใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 6.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ การเร่งรัดจัดซื้อจัดจ้างในไตรมาส 1-2/2558   ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ การเร่งรัดจัดซื้อจัดจ้างในไตรมาส 1-2/2558

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.ย.57 อยู่ที่ระดับ 48.9 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ดัชนีฯ ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 49.1 จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่อุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นจากเดือนก่อน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเมินว่าภาวะธุรกิจจะปรับดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากระดับของดัชนีฯ ที่ 54.3 โดยเกือบทุกองค์ประกอบมีค่าดัชนีเกินกว่าระดับ 50 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

    "เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.57 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่ในภาพรวมการฟื้นตัวยังช้า โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนปรับดีขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ"

     ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวในระดับต่ำและการส่งออกสินค้ายังอ่อนแอ สอดคล้องกับการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ส่วนภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

   สำหรับ ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงาน หลังจากมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ประกอบกับไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แต่สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

   ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ค่อนข้างช้าและไม่ชัดเจนในทุกภาคส่วน โดยอุปสงค์ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่บางส่วนถูกรั้งไว้ด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และกำลังการผลิตส่วนเกินที่เหลืออยู่ในหลายอุตสาหกรรม ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนทำได้ค่อนข้างน้อยแม้จะเร่งขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเป็นลำดับ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!