- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 05 February 2021 16:31
- Hits: 7545
สศค.ชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ฐานะการคลัง และการดูแลคนตัวเล็ก จากกรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยแย่ลงเรื่อยๆ ฐานะการคลังมีความเปราะบางจน อาจนำไปสู่การล้มละลายทางการคลัง และรัฐบาลไม่ดูแลประชาชนและผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ขอชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์ดังกล่าว ดังนี้
ประเด็นเศรษฐกิจและฐานะการคลัง สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันส่งสัญญาณดีขึ้น จากรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2563 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังชี้ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ และอุปสงค์ในประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี ประกอบกับเครื่องชี้การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุด สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุด สำนักข่าว Bloomberg ได้ประเมินมุมมองอนาคตเศรษฐกิจของไทยปี 2564 ว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจเป็น อันดับ 1 ใน 17 ประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Economies) สะท้อนได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ความแข็งแกร่งในภาคการเงินระหว่างประเทศและศักยภาพในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ อีกทั้ง Bloomberg ได้เผยแพร่ดัชนีประสิทธิภาพของระบบรักษาสุขภาพ (Bloomberg Heath-Efficiency Index 2020) โดยชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรก (อันดับที่ 9) ของประเทศที่มีระบบรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงเหนือกว่าอีกหลายประเทศจากกลุ่มตัวอย่าง 57 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ แสดงให้เห็นถึงระบบสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพสูง
ในส่วนของการจัดเก็บรายได้รัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วงปีงบประมาณ 2557 – 2563 การจัดเก็บรายได้รัฐบาลขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,074,660 ล้านบาท เป็น 2,391,570 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปี (Compound Annual Growth Rate) ซึ่งมีเพียงปีงบประมาณ 2557 2560 และ 2563 ที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิลดลงจากปีก่อนหน้า โดยในปีงบประมาณ 2563 รายได้รัฐบาลลดลง เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และการออกมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน
นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการคลังประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยฐานะทางการคลังมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ระดับเงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่เพียงพอสามารถรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินนโยบายต่างๆ
เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 473,001 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณก่อนหน้า ถึงร้อยละ 49.5 นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.1 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 52.1 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 และซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
อย่างไรก็ดี หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำที่สุดในปี 2563 แล้ว และได้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้นตามลำดับ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง และการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวัคซีนมาใช้ในปี 2564 นี้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจ ค่อยๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็จะมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะเร่งผลักดันและแก้ไขเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ ให้กลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเร็ว
ประเด็นด้านการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือให้แก่ประชาชน มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมประชาชนในหลากหลายกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีอาชีพรับจ้าง หาบเร่ แผงลอย นอกจากนี้ มาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินในช่วงที่ผ่านมา ยังมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายและการหมุนเวียนเศรษฐกิจในระดับฐากราก เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีรายได้ในช่วงภาวะเช่นนี้
สำหรับ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการ ผ่านการให้แหล่งเงินต้นทุนต่ำภายใต้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่าง ๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกลไกลดความเสี่ยงด้านเครดิตผ่านการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขยาดย่อม หรือ บสย. และในปัจจุบันยังมีมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ยังดำเนินการอยู่และครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป
ผู้ประกอบการ SME ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตลอดจนผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยต่าง ๆ เช่น พ่อค้า แม่ค้าในตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้และมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ทั้งนี้ กลไกการช่วยเหลือดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือควรเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังพอมีศักยภาพทางธุรกิจ แต่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจขาดศักยภาพหรืออยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้าง กระทรวงการคลัง โดย บสย. ได้จัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center ที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มดังกล่าวนี้ด้วย นอกจากนี้ เพื่อให้การกำหนดมาตรการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังได้มีการติดตามสถานการณ์และผลการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอย่างใกล้ชิด ตลอดจนแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันการณ์ต่อไป
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ