- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 30 October 2014 22:02
- Hits: 2191
คลัง หั่นจีดีพีปี นี้โต 1.4% จากเดิมโต 2.9% หลังส่งออกทรุด คาดปีนี้โตแค่ 0.1% ส่วนปีหน้าจีดีพีโตได้ 4.1% หลังลงทุนรัฐหนุน ส่งออกฟื้น โต 3.5%
คลัง หั่นจีดีพีปีนี้โต 1.4% จากเดิมโต 2.9% หลังส่งออกทรุด คาดปีนี้โตแค่ 0.1% ส่วนปีหน้าคาดจีดีพีปี58 โต 4. 1% หลังแรงขับเคลื่อนอุปสงค์ภาครัฐ จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่หนุน คาดส่งออกปี 58ฟื้นโตได้ 3.5% นำเข้าโต 9.6% เกินดุลการค้า 7.5 พันล้านดอลล์
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนตุลาคม 2557 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดโตเหลือ 1.4% หรือเติบโตในกรอบ 1.2-1.7% จากเดิมที่คาดโต 2.9% เมื่อเดือนก.ค.เนื่องจากคาดว่า การส่งออก ปี 57 จะขยายตัวได้เพียง 0.1% จากเดิมที่คาดโต 1.5% ขณะที่คาดว่าครึ่งหลังของปี 2557 จะสามารถขยายตัวได้ที่ 2.9%
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีคาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ขณะที่การบริโภคภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ตามการใช้จ่ายในงบประมาณของรัฐบาลส่วนกลางที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง,
"การปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 นั้น เป็นไปตามการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ" ผอ.สศค. กล่าว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะอยู่ที่ 2.1% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.9 – 2.4%) ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลง และการขยายตัวของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับผลจากแนวทางการดูแลราคาพลังงานของภาครัฐ ในส่วนของอัตราการว่างงาน คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8 – 1.0% ของกำลังแรงงานรวม)
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่า ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 19.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 18.0 – 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ร้อยละ -5.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -6.0 ถึง -5.5) ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.1% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -0.2 ถึง 0.4%) ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 9.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.2% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.1 – 2.3% ของ GDP)
สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2558 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.6) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 – 2.7) ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางทรงตัว
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป ที่เป็นไปอย่างเปราะบาง และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงตกต่ำ”
นายกฤษฎา กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศปี 2558 คาด ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่ม7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 4.5-10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จากการมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่คาดโต 9.6% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.9-11.6) ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว3.5% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่1.5-5.5%) ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 9.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.2% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.1 – 2.3% ของ GDP)ส่วนปี58 เกินดุล 0.3 พันล้านดอลล์ หรือ 0.1% ของจีดีพี
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
สศค.ระบุ เศรษฐกิจ ก.ย.มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยตามอุปสงค์ในประเทศฟื้น
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ย.57 และไตรมาส 3/57 ว่า เครื่องชื้เศรษฐกิจสะท้อนสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกยังคงมีสัญญาณชะลอตัว แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปทาน ภาคเกษตรกรรมมีการหดตัวเล็กน้อย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในเดือน ก.ย.และไตรมาส 3/57 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ก.ย.57 ขยายตัว 4.1% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.1% ทำให้ในไตรมาส 3 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 2.3% ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าขยายตัวเช่นกันที่ 0.7% ต่อไตรมาส
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาส 3/57 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.3 จากในไตรมาส 2/57 ที่อยู่ที่ระดับ 61.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น
สำหรับ ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ย.57 หดตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.4% ต่อปี ตามการหดตัวที่ลดลงจากยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งในภูมิภาคและ กทม. ทำให้ในไตรมาส 3/57 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ 8.1% ต่อปี โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าขยายตัว 7.4% ต่อไตรมาส
การลงทุนภาคเอกชนในเดือน ก.ย.และไตรมาส 3/57 ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกันยายน ที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 17.8% ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 3 ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนทรงตัว และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัว 7.9% ต่อไตรมาส ขณะที่การลงทุนหมวดภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดขายปูนซิเมนต์ในเดือน ก.ย.หดตัวต่อเนื่อง 5.6% ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 3/57 หดตัว 2.9% ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าตัวเช่นกันที่ 2.2% ต่อไตรมาส
การส่งออกสินค้ายังคงมีสัญญาณชะลอตัว แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกในเดือน ก.ย.ที่สามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.2% ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาส 3/57 ยังคงหดตัว 1.8% ต่อปี สะท้อนผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานยังส่งสัญญาณชะลอตัวจากภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคบริการเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมเดือน ก.ย.57 หดตัว 3.4% ต่อปี ส่งผลทำให้ไตรมาส 3/57 หดตัว 0.5% ต่อปี และหดตัว-5.5% ต่อไตรมาส ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ประกอบกับผลผลิตมันสำปะหลังที่หดตัวลง เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
ขณะที่ภาคบริการสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนก.ย.หดตัว 7.0% ต่อปี ส่งผลทำให้ไตรมาส 3/57 หดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 10.1% ต่อปี แต่ขยายตัวได้ 3.9% ต่อไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลมาความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อสถานการณ์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.8% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/57 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.0% ต่อปี ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือน ก.ย.อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม ส่งผลทำให้ไตรมาส 3/57 อยู่ที่ 0.8% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.52 แสนคน สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 161.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า ซึ่งจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
อินโฟเควสท์