- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 15 October 2020 16:33
- Hits: 17091
ราชกิจจาฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกทม.
เว็บไซต์ราชกิจจาฯ ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 15 ต.ค.63 เป็นต้นไป
เมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 15 ต.ค.63 เว็บบไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ระบุว่า
โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อีกทั้ง ยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง
กรณีนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้มีการยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความมาตรา 5 และ 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 นายกรัฐมนตรี จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น.เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563
ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รมว.คลัง ยันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกทม. ไม่กระทบภาคธุรกิจ
รมว.คลัง ชี้รัฐบาลประกาศฉุกเฉินคุมพื้นที่กทม.เป็นเหตุจำเป็น เชื่อฝ่ายความมั่นคงดูแลได้ มั่นใจไม่กระทบภาคธุรกิจ พร้อมสั่งงานคปภ.ยกระดับประกันสุขภาพ-ประกันภัยพืชเกษตรกรเป็นเรื่องเร่งด่วน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ เมื่อช่วงเวลา 04.00 น. มีผลตั้งแต่ 15 ต.ค. นี้ว่า เป็นความจำเป็นของรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเข้าไปดูแลสถานการณ์ ซึ่งมองว่า เรื่องนี้ เป็นการประกาศเฉพาะพื้นที่เท่านั้น ซึ่งส่วนของภาคธุรกิจ เชื่อว่าจะเดินหน้าต่อไปได้ปกติ และฝ่ายความมั่นคงจะดูแลเป็นอย่างดี
ทั้งนี้จะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ขณะนี้ขอดูแลเฉพาะส่วนกระทรวงการคลังก่อน
ขณะเดียวกันในงานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจรประจำปี 63 กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนการทำประกันภัยในกลุ่มประชาชนทั่วไป และผู้มีรายได้น้อย ให้เป็นวาระแห่งชาติ รวรวมถึงได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้เร่งจัดทำแผนประกันประกันสุขภาพ ประกันหลังวัยเกษียณ ประกันเกี่ยวกับการขนส่งคมนาคม สำหรับกลุ่มรายย่อย โดยให้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาหลังจากนี้
สำหรับ การยกระดับประกันสุขภาพ ยืนยันว่าเป็นมาตรการเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันระบบสวัสดิการยังไม่เพียงพอ ที่จะรองรับค่าใช้จ่าย และสังคมผู้สูงอายุในอนาคต รวมถึงปัจจุบันพบว่า สัดส่วนการทำประกันยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงอยากให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้วย
นอกจากนี้ ยังอยากให้การทำประกันเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนชีวิตหลังวัยเกษียณ เพราะพบว่า คนไทยยังมีหลักประกันน้อย ขณะที่สังคมผู้สูงวัยกำลังก้าวเข้ามา
“ปัจจบันคนไทยมีสัดส่วนการทำประกันภัยน้อย และหลักประกัน หรือสวัสดิการของรัฐในด้านสุขภาพยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ ดังนั้นจึงจะใช้ระบบประกันเข้ามาช่วย เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะต่อไป สำหรับแนวทางนั้นพร้อมที่จะใช้มาตรการทางด้านการคลังเข้ามาสนับสนุน ทั้งการขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีเข้ามา หรือการใช้งบประมาณรัฐเข้าไปช่วยสนับสนุน แต่รายละเอียดจะมีการศึกษาก่อน”นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้คปภ.ไปพิจารณาการออกประกันพืชผลทางการเกษตรเพิ่มเติม นอกเหนือจากข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมองว่าจะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรได้
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ธุรกิจประกันมีเบี้ยประกันรับโดยตรงอยู่ที่ 406,869 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจประกันชีวิต 285,402 ล้านบาท ธุรกิจประกันวินาศภัย 121,467 ล้านบาท โดยธุรกิจประกันภัยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 4.61 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีอยู่ที่ 5.3% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง
สำหรับ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประกันภัยไทยจึงมีบทบาทในการช่วยพัฒนาประเทศ แต่ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นธุรกิจประกันจึงต้องปรับตัว เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปให้มากขึ้น ขณะเดียวกันในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย คปภ.ได้บูรณาการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 เช่น การสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การนำเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางในการเข้าถึงประกันมากขึ้น
“พร้อมจะนำแนวทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายไปดำเนินการ โดยจะต้องหารือร่วมกับอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อจัดทำแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมา คปภ.ได้มีการส่งเสริมอยู่แล้ว เช่นการจัดทำประกันภัยเฉพาะโรค ที่มีเบี้ยราคาถูกหลักร้อยบาทให้ประชาชนได้ซื้อ”นายสุทธิพล กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย