WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaDPICO2

สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ มีนาคม 2563 เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ 335 ราย จากโรคโควิด 19

รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนเมษายน 2563

       นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2563 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (โรคโควิด 19) ที่ได้ทวีความรุนแรงและมีการแพร่การกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ จนทำให้มีการยกเลิกเทศกาลสงกรานต์ และปิดเส้นทางการเดินทางของประชาชนทุกช่องทางเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาด ประกอบกับปัญหาภาวะภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงอย่างหนักหน่วง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 สถานการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องที่เป็นข่าวดีจากมาตรการที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

      และได้เปิดดำเนินการให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เพื่อเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สศค. ได้รับการแจ้งตอบรับจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยินดีที่จะเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จำนวนรวมทั้งสิ้น 335 ราย

       ประกอบด้วย ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 222 ราย ภาคเหนือจำนวน 31 ราย ภาคตะวันออกจำนวน 30 ราย ภาคกลางจำนวน 37 ราย และภาคใต้จำนวน 15 ราย โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมมาตรการแต่ละรายก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาของสัญญาเงินกู้ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดค่าผ่อนชำระรายงวด ไม่ติดตามทวงถามหนี้ หรือไม่คิดค่าปรับล่าช้าหรือค่าติดตามทวงถามหนี้แล้วแต่กรณี เป็นต้น

       สำหรับ สถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยมีปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของทั่วโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้มีจำนวนผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิ 1,194 ราย เพิ่มขึ้นเพียง 5 รายจากเดือนมีนาคม 2563 ในจำนวนนี้เป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective rate)) สะสมสุทธิจำนวน 1,037 ราย (เพิ่มขึ้น 4 ราย จากเดือนมีนาคม 2563)

และเป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ปี (Effective rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาทเป็นต้นไป ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate)) สะสมสุทธิจำนวน 157 ราย (เพิ่มขึ้น 1 ราย จากเดือนมีนาคม 2563) โดยรายละเอียดความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนเมษายน 2563 สรุปได้ ดังนี้

      สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,329 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (112 ราย) กรุงเทพมหานคร (107 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 135 ราย ใน 52 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 1,194 ราย ใน 75 จังหวัด

      โดยมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 880 ราย ใน 73 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 21 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 39 ราย) ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 737 ราย ใน 71 จังหวัด และมีรายละเอียด ดังนี้

      (1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 1,037 ราย ใน 75 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (94 ราย) กรุงเทพมหานคร (94 ราย) และขอนแก่น (62 ราย) ตามลำดับ มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิทั้งสิ้น 813 ราย ใน 73 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 701 ราย ใน 71 จังหวัด

      (2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 157 ราย ใน 54 จังหวัด ประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 83 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่จำนวน 74 ราย ใน 29 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) กรุงเทพมหานคร (13 ราย) และอุบลราชธานี (10 ราย) มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้ว 67 ราย ใน 26 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 36 ราย ใน 20 จังหวัด

(3) ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

      (3.1) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 248,423 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,589.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,525.68 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 122,862 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,511.52 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.29 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 125,561 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,078.06 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.71 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

        โดยปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่กับลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยคำนึงถึงศักยภาพการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการหารายได้ของประชาชน นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการสินเชื่อรายอื่นๆ ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ (นาโนไฟแนนซ์) รายใหญ่ ๆ ที่ขยายธุรกิจเพื่อเข้ามาเปิดบริการสินเชื่อในระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นที่นอกเหนือจากสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์

     (3.2) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 108,815 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,752.94 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมจำนวน 13,850 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 357.87 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 12,478 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 342.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.45 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มลดลงซึ่งส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในภาพรวม โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีการเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายใหม่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ภาพรวมของยอดสินเชื่อคงค้างมีแนวโน้มลดลง

       สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 จนถึงวันที่เสร็จสิ้นโครงการวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้กับประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวนรวมทั้งสิ้น 624,384 ราย คิดเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 27,366.17 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินการในภาพรวมของการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ได้กระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่อนุมัติสะสมทั้งหมดครอบคลุมประชาชนรายย่อยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 46.53 ภาคเหนือ ร้อยละ 19.80 ภาคกลาง ร้อยละ 15.72 ภาคใต้ ร้อยละ 14.23 และภาคตะวันออก ร้อยละ 3.72

      การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,479 คน

       นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่

  • • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599
  • • ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155
  • • ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
  • • ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
  • • ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร 0 2575 3344

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!