- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 17 October 2014 23:56
- Hits: 2820
จีดีพีปี 58 ทะยานไม่ถึง 6%คลังเก็บรายได้ปี 57 ต่ำกว่าเป้าเพราะเหตุเศรษฐกิจชะลอ
บ้านเมือง : แบงก์ชาติ ฟันธงเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะเติบโตได้ถึง 6% ยาก เศรษฐกิจโลกยังความผันผวนแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้มแข็งขึ้น ส่วนเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นก็ยังชะลอตัว ขณะที่คลัง ปิดหีบจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เศรษฐกิจไทยขยายตัวน้อย รายได้จากภาษีอากรต่ำ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56-ก.ย.57) สามารถจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ 2,073,912 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 201,088 ล้านบาท หรือ 8.8% เนื่องจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ประมาณการไว้ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2558
นอกจากนี้ ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศหดตัว และการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ซึ่งส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลต่ำกว่าประมาณการ 28,000 ล้านบาท
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะเติบโตได้ถึง 6% ตามที่มีผู้คาดการณ์ไว้คงเป็นไปได้ยาก คงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้มแข็งขึ้นแต่ก็ไม่แน่นอนเหมือนกับในอดีต ส่วนเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นก็ยังชะลอตัว
ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีความต้านทานผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้บางส่วนจากการเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะดูดีขึ้น แต่ขณะนี้ ธปท.ก็ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีหน้า ที่ 4.8% ซึ่งมีโอกาสทั้งเติบโตได้มากกว่าหรือน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
นายประสาน ยังกล่าว ในการสัมมนาทางวิชาการของ ธปท. หัวข้อ "มิติใหม่ของภาคการเงิน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน" ว่า ประสบการณ์ของหลายๆ ประเทศชี้ให้เห็นว่าภาคการเงินมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขนาดของภาคการเงินมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับรายได้ต่อหัวของแต่ละประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทพื้นฐานของภาคการเงินในการรองรับธุรกรรมต่างๆ การกู้ยืม การออม และการบริหารความเสี่ยง ล้วนเป็นสะท้อนถึงบทบาทพื้นฐานของภาคการเงินในการรองรับธุรกรรมต่างๆ การกู้ยืม การออม และการบริหารความเสี่ยง ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ ระดับการพัฒนาของภาคการเงินที่สูงขึ้นนั้นมีส่วนช่วยในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ผ่านการสะสมทุน แต่ยังช่วยให้ประสิทธิภาพในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นด้วย ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการเริ่มก่อตั้งกิจการ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนและขยายขนาดของกิจการตามศักยภาพที่แท้จริง รวมทั้งการสร้างและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
ขณะเดียวกัน ภาคการเงินยังมีบทบาทในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ต่ำ โดยนอกจากผลโดยตรงที่มาจากการลดข้อจำกัดทางการเงิน เช่น การเพิ่มความสามารถในการเปิดกิจการใหม่และการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น ประชาชนในกลุ่มนี้ยังอาจได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่มาควบคู่กับการพัฒนาระบบการเงิน ซึ่งสร้างโอกาสให้แรงงานนอกระบบย้ายเข้ามาทำงานในระบบ
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการเงินต้องไม่ละเลยมิติของความยั่งยืน การดูแลภาคการเงินจึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับการรักษาเสถียรภาพ เพื่อนำไปสู่ความพอดี ซึ่งเป็นสิ่งยากและละเอียดอ่อน เช่น กรณีของไทยที่ยังมีช่องว่างมากในการเข้าถึงแหล่งทุน
ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการพัฒนาเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสถียรภาพของระบบการเงินไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการและเครื่องมือที่หลากหลาย สำหรับแนวทำงานในการกำหนดนโยบาย ที่เน้นเป้าประสงค์ 5 ประการด้วยกัน ที่สามารถยึดถือเป็นหลักในการพัฒนาและดูแลภาคการเงิน ซึ่งประกอบด้วย ความลึก ความกว้าง ความทั่วถึง ความยุติธรรม และความยั่งยืน
นายประสาร กล่าวว่า ความท้าทายในการดูแลระบบการเงินที่ควรเน้นก็คือการเข้าใจความเชื่อมโยงเชิงระบบ ระหว่างแต่ละองค์ประกอบของภาคการเงินนั่นเอง ระบบเศรษฐกิจการเงินปัจจุบันเป็นระบบที่มีความซับซ้อนเชิงพลวัตร ที่ไม่อาจจะคาดเดาได้จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงหรือพฤติกรรมของแต่ละองค์ประกอบโดยลำพัง ในการรักษาเสถียรภาพและการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของระบบการเงิน จึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง