WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปลัดคลัง เผยขอรอดูนโยบายรัฐฯ ก่อนตัดสินคงภาษีนิติบุคคลที่ 20% ต่อไป หรืออาจลดลง รวมถึงกรณีกลับไปใช้ 30% เหมือนเดิม

    ปลัดคลัง เผยขอรอดูนโยบายรัฐฯ ก่อนตัดสินคงภาษีนิติบุคคลที่ 20% ต่อไป หรืออาจลดลง รวมถึงกรณีกลับไปใช้ 30% เหมือนเดิม แต่ยันเอาจริงรีดภาษีมรดกในส่วนที่เกิน 50 ลบ. เก็บอัตราเดียว 10%  ส่วนภาษี VAT หากจะปรับขึ้นต้องพิจารณารอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน  พร้อมคาดจีดีพีปีนีโตได้ 1.7% ชี้ ได้มาตรการกระตุ้น ศก.ภาครัฐหนุน

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาษีนิติบุคคลได้ปรับเหลือ 20% จากเดิม 30% ซึ่งรัฐบาลได้ปรับลดให้เพียง 1 ปี  ซึ่งปีหน้าจะต้องกลับมาพิจารณาอีกรอบ ซึ่งจะต้องดูนโยบายรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร จะคงไว้ที่ 20% เช่นเดิม หรือจะลดลง หรือปรับขึ้นมาที่ 30% ในระดับเดิม ทั้งนี้ ต้องดูประเทศในกลุ่มอาเซียนประกอบด้วย แต่ปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดึงดูดใจนักลงทุนได้

      ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก จะต้องมีการปฏิรูปภาษีเพื่อนำรายได้มาชดเชยรายได้จากภาษีที่ลดลง โดยการจัดเก็บภาษีมรดกจะจัดเก็บจากผู้รับในอัตราคงที่อัตราเดียว และจัดเก็บจากทรัพย์สินที่จดทะเบียนเท่านั้น โดยยกเว้นสำหรับมรดกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปนั้นจะเก็บภาษีในอัตราคงที่ที่ 10%

    "ภาษีมรดกเราเก็บแน่นอน โดยยกเว้น 50 ล้านบาทแรก ที่เกินนั้นคิดอัตราที่ 10% ส่วนใครที่มีการโอน โยกย้ายแล้วหวังว่าจะเอาเข้ามาทีหลังนั้น ระวังจะไม่ได้กลับมา เพราะเราตั้งใจเอาจริงแน่นอน"นายรังสรรค์ กล่าว   

    ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ที่ปัจจุบันการจัดเก็บยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมาก ขณะนี้อยู่ในอำนาจของกรมธนารักษ์เป็นคนประเมินต่างๆ ซึ่งมองว่าในระยะต่อไปน่าจะมีการจัดตั้งให้บริษัทเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการ ซึ่งในระยะแรกการจัดเก็บนั้นจะต่ำมากเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน  

    ด้านการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)จาก 7% เป็น 10% นั้น ยืนยันว่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่ามีความจำเป็นต้องปรับขึ้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเบื้องต้นมองว่าหากรัฐหารายได้ไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งงบประมาณ คงต้องมีการปรับขึ้นอัตราภาษีอย่างแน่นอน     

   "เราต้องคิดแบบ 360 องศา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่ในอีกแง่หนึ่งถ้าเราจัดตั้งงบประมาณขาดดุลทุกปี หนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นเราก็จำเป็นที่จะต้องปรับขึ้น โดยประเมินว่าทุก 1% ที่ปรับขึ้น จะมีได้รายได้เพิ่มขึ้น 5-6 หมื่นล้านบาท"นายรังสรรค์ กล่าว

   นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย หรือ จีดีพี จะเติบโตได้ 1.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2% เนื่องจากการส่งออกยังไม่ฟื้นตัว โดยล่าสุดส่งออกติดลบ 7.5% ขณะที่การนำเข้าติดลบถึง 12% ส่วนปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ   

    "หลายสถาบันคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 1.5-1.7% คลังก็มองว่าจะได้ 1.7% โดยคลังเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดก็มีมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้"นายรังสรรค์ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!