- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 15 December 2018 21:34
- Hits: 3983
บัญชีกลาง จ่ายเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มคืนแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายเงินตามมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยคำนวณจากฐานข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ใช้จ่ายในเดือนแรก เริ่ม 14 ธ.ค. 61
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้รับสมัครร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าเอกชนอื่น ในการเข้าร่วมมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ ขณะนี้มีร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) เรียบร้อยแล้ว จำนวน 3,225 ร้านค้า ซึ่งผู้มีสิทธิได้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งจากกระเป๋าวงเงิน (200/300 บาท) และในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าเอกชนอื่น (เฉพาะกระเป๋า e-Money) จำนวน 362,531 ราย
จากข้อมูลการใช้จ่ายจริงของผู้มีสิทธิในระหว่างวันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2561 รวมเป็นเงินกว่า 97.4 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) จำนวนกว่า 6 ล้านบาท โดยกันไว้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% ส่วนอีก 6% จะนำข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายมาประมวลผลเพื่อจ่ายเงินชดเชยไม่เกิน 500 บาท จากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจและฐานราก แบ่งเป็นเงินชดเชยเพื่อนำไปใช้จ่าย 5% เป็นเงินกว่า 4.4 ล้านบาท โดยโอนเข้ากระเป๋า e-Money ให้แก่ผู้มีสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเงินชดเชยอีก 1% เพื่อการออม เป็นเงิน 877,585.35 บาท โดยจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว กรมบัญชีกลางได้ประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ให้เปิดบัญชีเงินฝากชนิดพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกรายเรียบร้อยแล้วโดยแบ่งตามอาชีพ กล่าวคือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ประกอบอาชีพเกษตรกร และลูกจ้างภาคเกษตรกรรม (รับจ้างทำนา ทำสวน กรีดยาง) ให้เปิดบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากอาชีพข้างต้น ให้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน ในส่วนของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีสถานะเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ธนาคารจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเมื่อยอดเงินสะสมในบัญชีครบทุก 50 บาท
สำหรับ การจ่ายเงินชดเชยจากการใช้จ่ายในเดือนพฤศจิกายนเข้ากระเป๋า e-Money กรมบัญชีกลางจะเริ่มจ่ายในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 นี้เป็นเดือนแรก ส่วนข้อมูลการใช้จ่ายในเดือนถัดไปก็จะนำมาประมวลผลและจะจ่ายเงินชดเชยให้ทุกวันที่ 15 ของเดือน หากเดือนไหนตรงกับวันหยุดจะจ่ายในวันทำการก่อนหน้า ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 (ซึ่งเป็นข้อมูลการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 – 30 เมษายน 2562) เป็นเดือนสุดท้าย
ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่ได้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระเงินค่าสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่รวมสินค้าที่มีภาษีสรรพสามิต เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ น้ำมันเชื้อเพลิง หรือสินค้าไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอื่น ๆ) ในเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 362,531 ราย จะได้เงินโอนเข้ากระเป๋า e-Money ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นเงินจำนวนประมาณ 4.4 ล้านบาท และจะได้เงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการออม โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิ จำนวน 33,676 ราย และธนาคารออมสิน จะโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิ จำนวน 328,855 ราย รวมเป็นยอดเงินเพื่อการออม จำนวนทั้งสิ้น 877,585.35 บาท ในกรณีที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นสมาชิก กอช. ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีรายตัวของสมาชิกให้ตามเงื่อนไขข้างต้นต่อไป
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวย้ำว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มคืนมากขึ้นตามจำนวนเงินที่ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าวงเงิน และกระเป๋า e-Money ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถเติมเงินของตนเองเข้ากระเป๋า e-Money สำหรับใช้จ่ายได้
บัญชีกลางพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านผู้สูงอายุผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12 ธ.ค. 61
กรมบัญชีกลาง พร้อมจ่ายเงินตามมาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป และเช่าที่อยู่อาศัย รวมทั้งผู้สูงอายุที่ไม่มีที่อยู่อาศัย เริ่มจ่าย 12 ธ.ค. 61 เป็นเดือนแรก โดยย้ำว่าเงินในกระเป๋า e-Money ไม่จำกัดเวลาในการใช้จ่าย และไม่มีการดึงเงินกลับในช่วงปลายเดือน
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1) มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา 2) มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 3) มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปีขึ้นไป และ 4) มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีภาระค่าเช่าบ้านและไม่มีที่อยู่อาศัย (ตามข้อมูลการลงทะเบียนของผู้มีรายได้น้อย)
กรมบัญชีกลางได้จ่ายเงินตามมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย จำนวน 500 บาทต่อคน เข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้กับผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 8 – 10 ธันวาคม 2561 จำนวน 11.3 ล้านคนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเงินทั้งสิ้น 5.6 พันล้านบาท โดย ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2561 ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้กดเป็นเงินสดมาใช้ จำนวน 4.6 ล้านคน เป็นเงิน 2,300 ล้านบาท และนำบัตรไปใช้ซื้อสินค้า จำนวน 8.5 แสนคน เป็นเงิน 425 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,725 ล้านบาท
สำหรับ มาตรการต่อไปที่กรมบัญชีกลางจะจ่ายเงิน คือ มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 จนถึงเดือนกันยายน 2562 ซึ่งมีภาระค่าเช่าบ้าน และไม่มีที่อยู่อาศัย (ตามข้อมูลการลงทะเบียนของผู้มีรายได้น้อย) จะได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน 400 บาทต่อคนต่อเดือน โดยกรมบัญชีกลางจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านตามมาตรการนี้ ให้กับผู้มีสิทธิที่ครบตามเงื่อนไข ในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 เป็นเดือนแรก มีจำนวน 187,384 ราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เป็นเงินประมาณ 75 ล้านบาท
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิ จะไม่จำกัดเวลาในการใช้จ่าย และไม่มีการดึงเงินกลับในช่วงปลายเดือน ซึ่งจะแตกต่างจากวงเงินสวัสดิการในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเดือนละ 200/300 บาท หรือค่าเดินทาง 500 บาท ซึ่งต้องใช้ภายในเดือน ดังนั้น ผู้มีสิทธิไม่จำเป็นต้องรีบถอนเงินทันที โดยผู้มีสิทธิสามารถเลือกที่จะใช้จ่ายเงินดังกล่าวในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือร้านค้าเอกชนอื่นที่รับชำระเงินด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีสิทธิได้รับเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มคืน เพื่อนำไปใช้จ่ายต่อไปได้ที่สำคัญ ขอให้ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่าการถอนเงินสดออกมาจากตู้ ATM เป็นเรื่องยุ่งยาก และจะช่วยถอนเงินสดให้โดยคิดค่าบริการเป็นรายคน เพราะผู้มีสิทธิสามารถถอนเงินได้ด้วยตนเองเพียงไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น หากพบเห็นมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสกับเรื่องนี้ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด หรือติดต่อแจ้งเข้ามาที่ Call Center บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-2345 หรือ Call Center กรมบัญชีกลาง 02-270-6400 ซึ่งจะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
บัญชีกลางเตรียมจ่ายเงินเข้ากระเป๋า e-Money ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 4 มาตรการ
กรมบัญชีกลางกำหนดการจ่ายเงินตามมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 4 มาตรการ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 4 มาตรการ โดยให้ความช่วยเหลือ จำนวน 10 เดือน (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562) กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าว ได้เตรียมความพร้อมทั้งข้อมูลและระบบในการจ่ายเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ไว้พร้อมแล้ว รวมทั้งได้กำหนดระยะเวลาในการจ่าย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา
1) ค่าไฟฟ้า ผู้มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ใช้สิทธิจากมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี (ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน) ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการใหม่ ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หากใช้ไฟฟ้าเกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีสิทธิต้องเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด (มาตรการนี้ใช้สิทธิได้เฉพาะค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง/การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
2) ค่าน้ำประปา ผู้มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับสิทธิช่วยเหลือค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หากใช้น้ำประปาเกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีสิทธิต้องเป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด (มาตรการนี้ใช้สิทธิได้เฉพาะค่าน้ำประปาของการประปานครหลวง/การประปาส่วนภูมิภาค)
สำหรับการใช้สิทธิตามมาตรการใหม่ ผู้มีสิทธิจะต้องชำระเงินค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาไปก่อน ตามใบแจ้งหนี้ประจำเดือนที่การไฟฟ้านครหลวง/การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง/การประปาส่วนภูมิภาคเรียกเก็บจากการใช้ไฟฟ้า/น้ำประปา ของเดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 โดยสามารถชำระเงินได้ทุกช่องทาง ได้แก่ ชำระเงินที่สำนักงานการไฟฟ้า/ประปา หรือตัวแทนจุดบริการรับชำระเงิน Application Internet Banking หักบัญชีเงินฝากธนาคาร/บัญชีบัตรเครดิต และตัวแทนเก็บเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ การไฟฟ้า/ประปาจะประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติให้ทราบต่อไป โดยกรมบัญชีกลางจะโอนเงินชดเชยค่าไฟฟ้า/น้ำประปา เข้ากระเป๋าเงิน e-Money ตามจำนวนที่ผู้มีสิทธิได้ชำระไว้ตามจริง ทุกวันที่ 18 ของเดือน (เริ่มจ่ายเดือนแรก 18 กุมภาพันธ์ 2562)
2. มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย จำนวน 500 บาทต่อคน จำนวน 14.5 ล้านคน ซึ่งจ่ายให้เพียงครั้งเดียว โดยกรมบัญชีกลางจะทยอยจ่ายเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้กับผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว จำนวน 11.4 ล้านคน ภายในวันที่ 8-10 ธันวาคม 2561 และจะจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในกลุ่มผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 ในวันที่ 5 มกราคม 2562 และ 1 กุมภาพันธ์ 2562
3. มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินจำนวน 1,000 บาทต่อคน เพียงครั้งเดียว โดยกรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้ากระเป๋าเงิน e-Money ให้กับผู้มีสิทธิที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว ทุกวันที่ 21 ของเดือน (เริ่มจ่ายเดือนแรก 21 ธันวาคม 2561) ทั้งนี้ หากผู้มีสิทธิรายใดมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในระหว่างเดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 จะได้รับเงินวันที่ 21 ของเดือนเกิด สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะเริ่มจ่ายในวันที่ 5 มกราคม 2562 และ 1 กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากนั้นจะได้รับเงินทุกวันที่ 21 ของเดือนเกิดเช่นเดียวกัน
4. มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีภาระค่าเช่าบ้านและไม่มีที่พักอาศัย จะได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน 400 บาทต่อคนต่อเดือน โดยกรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้กับผู้มีสิทธิ ทุกวันที่ 12 ของเดือน (เริ่มจ่ายเดือนแรก 12 ธันวาคม 2561) หากผู้มีสิทธิรายใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในระหว่างเดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 จะได้รับเงินในเดือนเกิดเป็นครั้งแรกจนสิ้นสุดมาตรการ สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืนฯ จะเริ่มจ่ายในวันที่ 5 มกราคม 2562 และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นครั้งแรก จากนั้นจะโอนเงินช่วยเหลือให้ทุกวันที่ 12 ของเดือนเกิดเช่นเดียวกัน
มาตรการ เงื่อนไข จำนวนเงิน วันที่เงินเข้ากระเป๋าเงิน e-Money
1. ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา
- ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน แต่ไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน กรณีใช้เกินวงเงิน ที่กำหนดต้องรับภาระจ่ายเงินเองทั้งจำนวน
- ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน
- วันที่ 18 ของเดือน (เริ่มจ่ายเดือนแรก 18 กุมภาพันธ์ 2562)
- ใช้น้ำประปาไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน
- กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนดต้องรับภาระจ่ายเงินเองทั้งจำนวน
- ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน
2. ค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
- จ่ายให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคน 500 บาทต่อคน (จ่ายครั้งเดียว)
- 8 – 10 ธันวาคม 2561
- สำหรับผู้มีสิทธิ ที่ลงทะเบียนไทยนิยมฯ เริ่มจ่าย 5 มกราคม 2562 และ 1 กุมภาพันธ์ 2562
3. ค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาล
- ผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปีขึ้นไป ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562
- 1,000 บาทต่อคน (จ่ายครั้งเดียว)
- วันที่ 21 ของเดือน เริ่มจ่ายเดือนแรก 21 ธันวาคม 2561
- สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนไทยนิยมฯ เริ่มจ่าย 5 มกราคม 2562 และ 1 กุมภาพันธ์ 2562
4. ค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
- ผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 และแจ้งข้อมูลไว้กับหน่วยลงทะเบียนว่ามีภาระค่าเช่าบ้านและไม่มีที่พักอาศัย
- 400 บาท/คน/เดือน
- วันที่ 12 ของเดือน เริ่มจ่ายเดือนแรก 12 ธันวาคม 2561
- สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนไทยนิยมฯ เริ่มจ่าย 5 มกราคม 2562 และ 1 กุมภาพันธ์ 2562
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในตอนท้ายว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 4 มาตรการข้างต้น รัฐบาลมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการลดภาระค่าครองชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของ
ผู้มีรายได้น้อยได้อย่างยั่งยืน
Click Donate Support Web