- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 21 July 2018 21:30
- Hits: 4312
รมว.คลังรับปี 65 หนี้สาธารณะจะแตะ 48% ต่อจีดีพี เหตุลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งเป้างบฯ สมดุลในอีก 11 ปี
ประมาณสมดุลในอีก 11 ปีข้างหน้า หรือปี 72 ชี้เงินเฟ้อปัจจุบันโตในกรอบแล้ว แต่จะขึ้นดบ.หรือไม่ให้ธปท.ตัดสินใจ ย้ำเริ่มเห็นสัญญาณเงินไหลออกชะลอลงแล้ว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการปฐกถาพิเศษ แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าในปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี จะขยายตัวได้ 4.5% ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ประมาณการไว้ โดยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงดำเนินนโยบายด้านการคลังแบบผ่อนคลาย เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่คาดว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
สำหรับ ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ที่มีการคาดการณ์กันว่า หากสถานการณ์รุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อจีดีพีของโลกลดลง 0.5% และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือ การพิจารณานโยบายการเงินเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะเป็นผู้พิจารณา
ทั้งนี้ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง กระทรวงการคลัง ยังคงเน้นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการจัดทำงบประมาณขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าจะไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินการคลังแน่นอน ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศนั้น มองว่า อีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2565-2566 คาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพี แตะระดับสูงสุดที่ 48% จากปัจจุบันอยู่ที่ 40.4% ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินและการคลังที่ 60% ขณะเดียวกันยังประเมินว่า ไทยจะเริ่มทำงบประมาณแบบสมดุล โดยคาดว่าไทยจะทำงบแบบสมดุลได้ในอีก 11 ปีข้างหน้า หรือในปี 2572 ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานจีดีพีที่ไม่ต่ำกว่า 4%
“เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยนั้น คงแทรกแซงธปท.ไม่ได้ เพราะเขาเป็นองค์กรอิสระ แต่อยากให้มองว่า ขณะนี้ เงินเฟ้อที่เคยต่ำกว่ากรอบมา 3 ปี มันก็เหมือนคนที่เพิ่งโผล่พ้นจากน้ำขึ้นมาหายใจ จะเทน้ำลงไปเพื่อให้เขาจมต่อหรือไม่ก็ต้องพิจารณา เพราะตอนนี้เงินเฟ้อเพิ่งเข้ากรอบมาอยู่ที่ 1% แค่ 2 เดือนเท่านั้น ดังนั้น คนที่จมน้ำมานาน เพิ่งขึ้นมาเราก็ต้องดูว่า เขาพ้นจริงหรือไม่ เราคงบังคับธปท.ไม่ได้ ส่วนเรื่องของเงินไหลออกนั้น มองว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณของการหยุดไหลออกที่รุนแรงแล้ว และที่ผ่านมา ยืนยันว่า ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศระดับสูง จึงรองรับกับเงินทุนที่ไหลออกได้ดี ”นายอภิศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่ภาครัฐจะเร่งดำเนินการต่อไป คือ การขยายฐานภาษี การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เช่น ปัจจุบันกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่าง การพิจารณาการเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกลุ่มรถจักรยานยนต์ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน การพัฒนาเรื่องดิจิทัล เทคโนโลยี ยังถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งภายในเดือนกรกฎาคมนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.อนุมัติ แผนการใช้ดิจิทัลไอดี หรือ การยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ เช่น การเปิดบัญชีธนาคารโดยไม่ต้องเดินไปยังสาขาธนาคาร เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่า การพัฒนาเทคโนโลยี หรือ ด้านดิจิทัล จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
“หลังจากเศรษฐกิจเติบโตดีแล้ว อยู่ในช่วงที่เรียกว่าโตเต็มที่ แต่สิ่งสำคัญ คือ เราจะทำยังไงให้ยั่งยืน และทำให้ประเทศแข่งขันได้ด้วย ดังนั้น ที่ผ่านมาไทยจึงมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้า การนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้สามารถลดต้นทุนแข่งขันได้ รวมถึงการลงทุนใน EEC ทั้งรถไฟความเร็วสูง การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม เพื่อหวังว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในอีก 10 ปีข้างหน้า”นายอภิศักดิ์ กล่าว
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ยังมองว่าหากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4% ต่อเนื่อง จะทำให้ไทยหลุดพ้นประเทศความยากจนได้ภายใน 18 ปีข้างหน้า แต่หากจีดีพีขยายตัวได้ 5% จะทำให้ไทยหลุดพ้นความยากจนได้ภายใน 11 ปี ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามปฎิรูปภาคการเกษตร ให้เกษตรกร 30 ล้านคน มีรายได้มากขึ้น หลุดพ้นความยากจนได้ ด้วยการพัฒนาภาคการผลิตที่ต้นทุนต่ำ และเป็นที่ต้องการของตลาดในระยะยาว ทดแทนการช่วยเหลือระยะสั้น ที่ไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย