WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gกลยาคลังเผย 7 เดือนแรกของปีงบ 61 รัฐจัดเก็บรายได้ 1.29 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 4.9%

 คลังเผย 7 เดือนแรกของปีงบ 61 รัฐจัดเก็บรายได้ 1.29 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6.05 หมื่นลบ. หรือ 4.9% หลังจัดเก็บภาษี ปิโตรเลียม - ยาสูบ และเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น

  นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – เมษายน 2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,293,908 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 60,598 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 โดยมีสาเหตุจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 30,444 และ 23,133 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.8 และ 21.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษียาสูบ และภาษีเงินได้นิติบุคคล

  นางสาวกุลยาฯ กล่าวโดยสรุปว่า “ในช่วงที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิยังเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังจะกำกับดูแลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้”

 ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – เมษายน 2561) และเดือนเมษายน 2561

   1. ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – เมษายน 2561)

   รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,293,908 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 60,598 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.9) โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 30,444 และ 23,133 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.8 และ 21.5 ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

   1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 899,477 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,554 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.7) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 14,201 และ 1,958 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.0 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.9) และร้อยละ 1.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.1) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,947 ล้านบาท หรือร้อยละ 283.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 324.9) เนื่องจากมีการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมย้อนหลัง และผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,524 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.8) เนื่องจากภาษีจากกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 50) ของกลุ่มบริษัทที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเป็นปีงบประมาณ และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) ขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้

   1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 322,132 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,289 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.1) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ ภาษีเบียร์ และภาษีสุราฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,388 4,341 และ 2,001 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.9 9.3 และ 5.5 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมัน เบียร์ และสุราที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ดี ภาษียาสูบและภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,676 และ 4,008 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7 และ 6.5 ตามลำดับ เนื่องจากภาระภาษีต่อซองของยาสูบหลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ สูงกว่าที่ประมาณการไว้ และปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ยังขยายตัวได้ดี

   1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 63,330 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,070 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.8) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2,343 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.0) เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และในรูปเงินบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัวร้อยละ 15.4 และ 6.4 ตามลำดับ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าในช่วง 6 เดือนแรกได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยานบกและส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (3) เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (4) ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และ (5) พลาสติกและสินค้าจากพลาสติก

   1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 113,239 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 30,444 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 17.6) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ของธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์เร็วกว่าที่ประมาณการไว้ (ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2561) การนำส่งเงินปันผลของ บมจ. ปตท. และ บมจ. ท่าอากาศยานไทยที่สูงกว่าประมาณการเนื่องจากผลประกอบการขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ และจำนวนสลากกินแบ่งรัฐบาลที่พิมพ์สูงกว่าประมาณการ ทำให้การนำส่งรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสูงกว่าที่ประมาณการไว้

   1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 130,543 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 23,133 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.5) เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

   • การรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน

   • การส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ

   • การนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz (ใบอนุญาต 4G) ที่สูงกว่าประมาณการ

   • การนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz บางส่วนเร็วกว่าที่ประมาณการไว้

   สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,509 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 424 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.9) โดยรายได้ด้านที่ราชพัสดุจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

   1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 173,002 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,899 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.9 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 129,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,051 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.0 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 43,453 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,152 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6

   1.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 8,636 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,636 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.9

   1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 9,564 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 882 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4

   1.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 6,474 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,566 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.5 เป็นผลจากการปรับลดอัตราเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.5 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา

   1.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1 - 4 จำนวน 37,137 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 777 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.1

2. เดือนเมษายน 2561

   รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 218,126 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21,717 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.1 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 17.9) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 20,276 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 70.1) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ของธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์เร็วขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้ (ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2561) และการนำส่งเงินปันผลของ บมจ. ปตท. สูงกว่าที่ประมาณการไว้ เป็นสำคัญ ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 6,391 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.9(สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 42.6) เนื่องจากมีการนำส่งรายได้จากประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz บางส่วนเร็วกว่าที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ ภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,096 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 37.0)

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

สศค.เตรียมเพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้เป็นโต 4.5% จากเดิม 4.2% หลังส่งออก ลงทุนรัฐ-เอกชนฟื้น

  สศค.เล็งเพิ่มเป้าจีดีพีไทยปี 61 โต 4.5% สูงสุดในรอบ 6 ปี จากเดิม 4.2% หลังคาดส่งออกโตเกิน 8% ลงทุนรัฐ-เอกชนหนุน ขณะที่เงินบาทคาดอ่อนค่าลง จากที่เคยคาดที่ 31.5 บ./ดอลล์ส่วนน้ำมันสิ้นปีคาดอยู่ที่ 67 เหรียญ จากเดิมคาดที่ 66.5 เหรียญ

   นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และ ในฐานะกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เตรียมปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2555 จากปัจจุบันที่ 4.2% หลังจากที่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกโตถึง 4.8% ซึ่งมากกว่าที่ สศช.ประเมินไว้ที่ 4% นอกจากนี้ สศช. จะปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้เฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 67 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากปัจจุบันคาดการณ์ที่ 66.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงจากปัจจุบันที่ตั้งสมมติฐานไว้ที่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์

  สำหรับ ปัจจุบัน พบว่า ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศเริ่มเห็นสัญญาณคลี่คลาย เช่น กรณีกีดกันทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ ที่เริ่มมีความชัดเจนและสามารถเจรจากันได้ ประกอบกับเศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐยังขยายตัวได้ดี การจ้างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 3.9% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อไทยในด้านการค้า ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกไปยังสหรัฐถึง 11%

     สำหรับ การส่งออกปีนี้ สศค.คาดว่า การส่งออกของไทยจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 8% แน่นอน อานิสงส์จากภาคการค้า และเศรษฐกิจการค้าต่างประเทศที่เติบโตได้ โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนที่ผ่านมาขยายตัวได้ 12.3% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือน

   “ในอีก 2 เดือนข้างหน้า จะเป็นรอบที่ สศค.ปรับประมาณการจีดีพี รวมถึงการส่งออก และตัวเลขอื่นๆด้วย ด้านการลงทุนภาครัฐปีนี้ มองว่าจะเติบโตได้ 8.9% และการลงทุนภาคเอกชนคาดขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นในขณะนี้มองว่า เป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งหลักๆน่าจะมาจากการคว่ำบาตรอิหร่าน และประเด็นเรื่องของเชลล์ออยล์ และมองว่าในที่สุดราคาจะเริ่มปรับลดลงมา”นางสาวกุลยา กล่าว

  ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป คือ การลงทุนของภาครัฐ จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ขณะที่ปัจจัยทางการเมือง หรือ การเลือกตั้งที่ประกาศความชัดเจนนั้น มองว่าเป็นปัจจัยบวกต่อนักลงทุนต่างชาติมากกว่าเป็นปัจจัยลบ สอดคล้องกับที่ล่าสุดบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ มูสดีย์ ยังคงจัดอันดับไทยอยู่ที่ BBB+ และยังมีความเห็นว่า การเมืองไม่ใช่ประเด็นที่น่าห่วงสำหรับนักลงทุนไทย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ฟุ้งรีดรายได้ 7 เดือน ทะลุเป้า 6 หมื่นล้าน รสก.ช่วยกันส่งเงิน

            ไทยโพสต์ : พระราม 6 * คลังฟุ้งจัดเก็บรายได้ 7 เดือนปีงบประมาณ 2561 ทะลุเป้าหมาย 6.05 หมื่นล้านบาท แตะ 1.29 ล้าน ล้านบาทได้ดี รัฐวิสาหกิจ-หน่วยงานอื่นลุยส่งรายได้กระหึ่ม

               น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัด เก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-เม.ย.61) จัดเก็บได้ 1.29 ล้านล้านบาท สูงกว่าประ มาณการ 6.05 หมื่นล้านบาท หรือ 4.9% โดยมีสาเหตุจากการนำส่งรายได้ของรัฐ วิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 3.04 หมื่นล้านบาท และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณ 2.31 หมื่น ล้านบาท

               "ในช่วงที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิยังเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ สำหรับในช่วง ที่เหลือของปีงบประมาณ กระ ทรวงการคลังจะกำกับดูแลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้" น.ส.กุลยากล่าว

               อย่างไรก็ตาม ในส่วน ของการเก็บภาษี กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 8.99 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6.55 พันล้านบาท หรือ 0.7% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1.42 หมื่นล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1.95 พันล้านบาท

               ขณะที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 3.22 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.28 พันล้านบาท หรือ 0.7% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำ กว่าประมาณการที่สำคัญ ได้ แก่ ภาษีน้ำมัน 7.38 พันล้านบาท ภาษีเบียร์ 4.34 พันล้านบาท และภาษีสุราฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2 พันล้านบาท ด้านกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 6.33 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.07 พันล้านบาท หรือ 3.2% โดยเป็นผลจากการจัด เก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประ มาณการจำนวน 2.34 พันล้านบาท เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้

               น.ส.กุลยากล่าวอีกว่า ในส่วนของฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1.29 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1.84 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 3.34 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย.2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.77 แสนล้านบาท.

คลัง เล็งทบทวน GDP ปี 61 โตเพิ่มเป็น 4.5% จากเดิมคาด 4.2% หลัง Q1/61 โตกว่าคาด

            โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2561 ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มเป็น 4.5% สูงสุดในรอบ 6 ปี จากปัจจุบันคาดขยายตัวที่ 4.2% หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัว 4.8% เติบโตมากกว่าคาดการณ์

               นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจัยหนุนมาจากการเร่งลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้ปีนี้คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้สูงกว่า 10% และคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโตได้เกิน 3% รวมถึงการส่งออกที่ปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 8% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

               ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัจจัยลบที่เข้ามากดดันการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้

               "ยอมรับว่าทิศทางราคาน้ำมันหลังจากนี้ ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยหากดูรายละเอียดในตลาดล่วงหน้า จะพบว่าแนวโน้มราคามีการเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ต่อเนื่อง โดยมีโอกาสปรับตัวลดลงได้ในระยะต่อ ๆ ไป ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้น จะมาจากการที่สหรัฐฯ คว่ำบาตประเทศอิหร่าน และการลดกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศเวเนซูเอล่า โดยในส่วนนี้ยังไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในระยะยาว และยังมีประเด็นเรื่องการปิดซ่อมบำรุงท่อขนส่งน้ำมันของสหรัฐฯ ที่แม้จะยังมีกำลังการผลิตน้ำมันมาก แต่ก็มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวอยู่ ดังนั้นคาดว่าเมื่อการปิดซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ ก็จะทำให้มีปริมาณน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันจะมีการปรับตัวลดลงในที่สุด" นางสาวกุลยา กล่าว

               ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทในขณะนี้ มีแนวโน้มอ่อนค่ามาใกล้แตะระดับ 32 บาท/ดอลลาร์แล้ว ซึ่งดีกว่าคาดการณ์ปัจจุบันที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์

               อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเร่งรัดเม็ดเงินลงทุนในโครงการลงทุนต่าง ๆ หากเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ โดยความไม่ล่าช้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญ รวมถึงความชัดเจนทางการเมืองก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติด้วย

               อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!