- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 27 March 2018 07:32
- Hits: 2034
ชี้แจงประเด็น กทพ. ระดมทุนผ่านช่องทางกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศไทย
กรณี ที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจของรัฐ 100% ซึ่งจะช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำประมาณ 3 - 4% โดยรัฐบาลอ้างว่าเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปกู้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) (กองทุนรวมฯ) ซึ่งเป็นกองทุนเอกชนที่มุ่งทำกำไรจากกิจการของรัฐ โดยมองว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการสร้างต้นทุนให้ภาครัฐ สร้างกำไรให้เอกชนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของรัฐอ่อนแอ และกำลังลุกลามไปอีกหลายรัฐวิสาหกิจ ขอเรียนชี้แจง ดังนี้
ประเด็นการที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจของรัฐ 100%
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอเรียนชี้แจง ดังนี้
1. การค้ำประกันให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ทั้งวัตถุประสงค์และผลตอบแทนของโครงการที่จะดำเนินการ สถานะทางการเงินและความสามารถในการดำเนินงานของหน่วยงาน ซึ่งกระทรวงการคลังโดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะจะพิจารณาค้ำประกันตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลังให้การค้ำประกันอยู่ภายใต้กรอบไม่เกินร้อยละ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะมาตรา 28 รวมทั้งยังเป็นการควบคุมการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับโครงการและศักยภาพของหน่วยงานนั้นๆ อีกทางหนึ่งด้วย
2. ในกรณีของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นั้น เนื่องจาก กทพ. เป็นหน่วยงานที่มีฐานะทางการเงินดีและดำเนินโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงินสูง กทพ. จึงสามารถบริหารเงินและภาระหนี้ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถชำระคืนหนี้เพื่อลดยอดหนี้คงค้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ กทพ. ไม่ต้องขอบรรจุแผนก่อหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้ ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2561
ประเด็นที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไประดมทุนผ่านช่องทางกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ขอเรียนชี้แจง ดังนี้
1. ประเด็นที่ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างต้นทุนให้ภาครัฐ และทำให้ธุรกิจของรัฐอ่อนแอ ขอชี้แจงว่า การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ นับเป็นแหล่งระดมทุนทางเลือกใหม่ของรัฐวิสาหกิจในการระดมทุนจากฐานนักลงทุนรายย่อยและสถาบันโดยตรง และเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในวงกว้างมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการที่สร้างขึ้น ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการตรวจสอบความคืบหน้าและความโปร่งใสของโครงการด้วย นอกจากนี้ วิธีการระดมทุนดังกล่าว ยังช่วยให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำเงินทุนไปใช้ในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และทำให้ประเทศสามารถใช้แหล่งเงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำและมีจำนวนจำกัดไปลงทุนด้านอื่นๆ ที่จำเป็นและไม่สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์ได้ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สำหรับ กทพ. การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ของ กทพ. จะทำให้ กทพ. สามารถลงทุนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสะสมรายได้หรือรอการจัดสรรเงินกู้ในการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขนาดของสินทรัพย์และความสามารถในการสร้างรายได้ของ กทพ. ในอนาคต
2. ประเด็นการจัดตั้งกองทุนรวมฯ ขอชี้แจงว่าการจัดตั้งกองทุนรวมฯ กรณีของ กทพ. เป็นการนำกระแสรายได้ในอนาคตจากโครงการทางพิเศษในปัจจุบันมาระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ในรูปของสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ (Revenue Transfer Agreement : RTA) ระหว่าง กทพ. และกองทุนรวมฯ เพื่อให้ กทพ. สามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ไปใช้ในการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของ กทพ. โดยการระดมทุนดังกล่าวไม่ถือเป็นการที่ กทพ. กู้เงินจากกองทุนรวมฯ เนื่องจากนักลงทุนเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงจากกระแสรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่นำส่งให้กองทุนรวมฯ ในแต่ละปี ซึ่งเป็นไปตามผลการดำเนินงานจริง ดังนั้น หากรายได้ค่าผ่านทางในอนาคตไม่เป็นไปตามคาดการณ์ กทพ. ก็ไม่มีข้อผูกพันใดๆ ซึ่งจะแตกต่างจากเงินกู้ซึ่งต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มตามจำนวน
ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจได้ว่า การดำเนินการของกระทรวงการคลังได้มีการคำนึงถึงวินัยทางการคลัง และศักยภาพของรัฐวิสาหกิจในการดำเนินโครงการต่างๆ รวมทั้งการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ลงทุน ได้มีส่วนร่วมในการติดตามการบริหารโครงการของรัฐภายใต้การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ อีกทางหนึ่งด้วย
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 02 265 8050 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โทร. 02 298 5880 ที่มา: กระทรวงการคลัง
คลัง แจงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ของ กทพ.ไม่เป็นภาระต่องบประมาณ-ไม่มีข้อผูกพัน
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจของรัฐ 100% ซึ่งจะช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำประมาณ 3-4% โดยรัฐบาลอ้างว่าเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปกู้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) (กองทุนรวมฯ) ซึ่งเป็นกองทุนเอกชนที่มุ่งทำกำไรจากกิจการของรัฐ เป็นการสร้างต้นทุนให้ภาครัฐและสร้างกำไรให้เอกชนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของรัฐอ่อนแอและกำลังลุกลามไปอีกหลายรัฐวิสาหกิจว่า การค้ำประกันให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ
ทั้งวัตถุประสงค์และผลตอบแทนของโครงการที่จะดำเนินการ สถานะทางการเงินและความสามารถในการดำเนินงานของหน่วยงาน ซึ่งกระทรวงการคลังโดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะจะพิจารณาค้ำประกันตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลังให้การค้ำประกันอยู่ภายใต้กรอบไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะมาตรา 28 รวมทั้งยังเป็นการควบคุมการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับโครงการและศักยภาพของหน่วยงานนั้นๆ อีกทางหนึ่งด้วย
กรณีของ กทพ.นั้น เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีฐานะทางการเงินดีและดำเนินโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงินสูง กทพ.จึงสามารถบริหารเงินและภาระหนี้ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถชำระคืนหนี้เพื่อลดยอดหนี้คงค้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ กทพ.ไม่ต้องขอบรรจุแผนก่อหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2561
ขณะที่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ชี้แจงข้อสังเกตุกรณีให้ กทพ.ไประดมทุนผ่านช่องทางกองทุนรวมฯ จะเป็นการสร้างต้นทุนให้ภาครัฐ และทำให้ธุรกิจของรัฐอ่อนแอ ว่า การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ นับเป็นแหล่งระดมทุนทางเลือกใหม่ของรัฐวิสาหกิจในการระดมทุนจากฐานนักลงทุนรายย่อยและสถาบันโดยตรง และเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในวงกว้างมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการที่สร้างขึ้น ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการตรวจสอบความคืบหน้าและความโปร่งใสของโครงการด้วย
นอกจากนี้ วิธีการระดมทุนดังกล่าวยังช่วยให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำเงินทุนไปใช้ในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และทำให้ประเทศสามารถใช้แหล่งเงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำและมีจำนวนจำกัดไปลงทุนด้านอื่นๆ ที่จำเป็นและไม่สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์ได้ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ได้เพิ่มขึ้น การที่ กทพ.ระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ จะทำให้ กทพ.สามารถลงทุนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสะสมรายได้หรือรอการจัดสรรเงินกู้ในการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขนาดของสินทรัพย์และความสามารถในการสร้างรายได้ของ กทพ.ในอนาคต
สำหรับ การจัดตั้งกองทุนรวมฯ ในกรณีของ กทพ.เป็นการนำกระแสรายได้ในอนาคตจากโครงการทางพิเศษในปัจจุบันมาระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ในรูปของสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ (Revenue Transfer Agreement:RTA) ระหว่าง กทพ. และกองทุนรวมฯ เพื่อให้ กทพ.สามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ไปใช้ในการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของ กทพ. โดยการระดมทุนดังกล่าวไม่ถือเป็นการที่ กทพ.กู้เงินจากกองทุนรวมฯ เนื่องจากนักลงทุนเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงจากกระแสรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่นำส่งให้กองทุนรวมฯ ในแต่ละปี ซึ่งเป็นไปตามผลการดำเนินงานจริง ดังนั้นหากรายได้ค่าผ่านทางในอนาคตไม่เป็นไปตามคาดการณ์ กทพ.ก็ไม่มีข้อผูกพันใดๆ ซึ่งจะแตกต่างจากเงินกู้ซึ่งต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มตามจำนวน
ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจได้ว่า การดำเนินการของกระทรวงการคลังได้มีการคำนึงถึงวินัยทางการคลัง และศักยภาพของรัฐวิสาหกิจในการดำเนินโครงการต่างๆ รวมทั้งการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ลงทุน ได้มีส่วนร่วมในการติดตามการบริหารโครงการของรัฐภายใต้การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ อีกทางหนึ่งด้วย