- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 02 February 2018 17:00
- Hits: 6909
สศค.เผยดัชนีเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ม.ค.61 สะท้อนแนวโน้มดีขึ้นทุกภาคนำโดยกลาง-ตอ.-เหนือ
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือน ม.ค.61 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหลายภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 93.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคการลงทุน เนื่องจากความคืบหน้าของนโยบายภาครัฐด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ประกอบกับมีการลงทุนใหม่ด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและมีการขยายธุรกิจมากขึ้นในจังหวัดสระบุรี อีกทั้งได้รับอานิสงส์จากโครงการกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมของภูมิภาค ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 96.6
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 92.9 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีค่าดัชนีแนวโน้มอยู่ที่ 99.8 ประกอบกับสถานการณ์การลงทุนภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น อีกทั้งมีนักลงทุนรายใหม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรี จากเดิมในเดือนก่อนหน้าที่พบว่านักลงทุนรายใหม่สนใจเพียงในเขตพื้นที่โครงการ EEC
เช่นเดียวกับภาคการผลิตของภาคเหนือที่มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการขยายโรงงานในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบูรณ์ ลำปาง เป็นต้น อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น รวมถึงแนวโน้มภาคเกษตร ยังคงส่งสัญญาณที่ดี ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 96.7 ตามสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 91.2
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 84.5 จากดัชนีแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคบริการในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะได้รับผลดีจากมาตรการลดหย่อนภาษีเขตเมืองรองที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 18 จังหวัดของภูมิภาค อีกทั้ง สาขาค้าปลีกค้าส่งยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงดัชนีแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 93.1 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในแต่ละจังหวัด
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 79.8 ตามแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกทั้งบริเวณด่านชายแดนในจังหวัดกาญจนบุรียังคงคึกคัก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและเมียนมาร์ได้ รวมถึงค้าส่งค้าปลีกที่มีแนวโน้มสดใส จากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคบริการอยู่ในระดับที่ดีที่ 83.8 ประกอบกับแนวโน้มที่ดีในภาคการลงทุน เนื่องจากมีการลงทุนใหม่ตามสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัดราชบุรี ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ 73.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามดัชนีแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 84.3 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเครื่องหนัง ประกอบกับ ดัชนีแนวโน้มภาคบริการ อยู่ที่ 71.8 โดยเฉพาะสาขาค้าปลีกและการเงินการธนาคาร
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 68.7 จากดัชนีแนวโน้มในภาคการจ้างงานภายในภูมิภาค ส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง อยู่ที่ 85.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ เป็นสำคัญ
อินโฟเควสท์
คลัง เผยการแข็งค่าเงินบาทปัจจุบันยังไม่กระทบการส่งออกในภาพรวม มองปลายปีมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แต่การแข็งค่าของเงินบาทก็ยังเป็นไปทิศทางเดียวกันสกุลอื่นในภูมิภาค
"ในมุมมองของกระทรวงการคลังตอนนี้ เงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 31 บาทกว่าต่อดอล์ลาร์สหรัฐ แต่เชื่อว่าปลายปีเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้าง และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ" น.ส.กุลยา กล่าว
พร้อมระบุว่า เงินบาทยังไม่ได้ส่งผลกระทบกับการส่งออกมาก ซึ่งมูลค่าการส่งออกปี 2560 ขยายตัวได้ถึง 10% และในปี 2561 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 6.6% ทั้งนี้การส่งออกต้องพิจารณาจากทั้งค่าเงินบาท และการซื้อสินค้าของประเทศคู่ค้าที่ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลมากกว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่การขายสินค้าก็ยังขายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า
"ปริมาณการขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น เพราะการขยายตัวการส่งออกในภาพรวมยังขยายตัวได้อยู่ ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากคือผู้ประกอบการที่ใช้ปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี" โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
สำหรับ ผู้ส่งออกรายใหญ่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะต้นทุนการนำเข้าลดลงเนื่องจากมีการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งได้ราคาถูกลงจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่การส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทในระดับปัจจุบันจึงยังไม่กระทบกับการส่งออกของประเทศในภาพรวมที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี
อินโฟเควสท์
สศค.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 61 เป็นโตพุ่ง 4.2% จาก 4% ปี 60 ได้ใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 61 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.2% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.7-4.7%) จากปี 60 ที่ขยายตัวราว 4.0% สูงกว่าคาดการณ์ทั้งปี 60 และ 61 เติบโตที่ระดับ 3.8%
สศค.มองว่าเศรษฐกิจปีนี้มีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ พ.ร.บ.จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฎิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 59 และ ปี 60 ที่คาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้มากขึ้นในปี 61 รวมทั้งสัญญาณเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 4.2% (กรอบ 3.7-4.7%) จากก่อนหน้านี้ที่เคยประมาณการไว้ที่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 60 ที่ GDP เติบโตได้ในระดับ 4% โดยเป็นการแตะระดับ 4% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 56 ที่ GDP เติบโตได้ 2.7%
ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 61 มาจากแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญคือการใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ? 2561 รวมทั้งการจัดทำงบประมาณกลางปี 2561 อีก 1.5 แสนล้านบาท และความคืบหน้าในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สำคัญของภาครัฐ ขณะที่สัญญาณการจัดการเลือกตั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากแม้การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเลื่อนออกไปจากปลายปี 61 สศค.มองว่าจะไม่กระทบต่อการเติบโตของ GDP ในปีนี้ เพราะเชื่อว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปได้
"การเลื่อนเลือกตั้งออกไป ไม่ได้มองว่าจะมีผลกระทบอะไรมาก เพราะเลื่อนไปแค่ 3 เดือน ปัจจัยตัวอื่นๆ ก็ยังสามารถผลักดันเศรษฐกิจต่อไปได้...วันที่มีการพูดว่าการเลือกตั้งอาจเลื่อนออกไป 3 เดือนนั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ปรับลดลงเพียงเล็กน้อย และหลังจากนั้นก็กลับขึ้นไปเป็นปกติ ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังมีความเชื่อมั่น และมองว่าการเลือกตั้งหากจะเลื่อนออกไปก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก" โฆษกกระทรวงการคลังระบุ
ทั้งนี้ การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 4.2% นั้น เป็นผลจากที่ สศค.ได้มีการปรับสมมติฐานที่สำคัญดังนี้ 1.อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.83% จากเดิมที่คาดไว้ 3.59% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญหลายประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปภาษี และโครงสร้างการลงทุนของภาครัฐ แม้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าบางส่วนจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน เช่น จีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ยูโรโซน, ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร โดยในส่วนของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในปีนี้เป็นผลมาจากทางการจีนพยายามลดความลดร้อนแรงของเศรษฐกิจลง ประกอบกับมีการกำกับดูแล Shadow Banking (ธนาคารเงา) ที่เข้มงวดขึ้น
2.อัตราแลกเปลี่ยน โดยคาดว่าในปี 61 เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 32.25 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยของเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าต่อเนื่อง สวนทางกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ? (เฟด) โดยจะเห็นได้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐตั้งแต่ปี 59 ที่ผ่านมานั้นไม่ได้ส่งผลทำให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไป ท่ามกลางปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐเองที่เป็นตัวกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปภาษีที่ส่งผลให้มีการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ในปีนี้เงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่า แต่ถือว่ายังมีความผันผวนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
3.ราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยทั้งปีนี้คาดว่าราคาจะเฉลี่ยอยู่ที่ 61.50 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการก่อนหน้านี้ เป็นผลจากกลุ่มประเทศทั้งในและนอกโอเปกร่วมมือกันขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมัน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันในระยะต่อไปมีโอกาสอ่อนตัวลงหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้อุปสงค์การใช้เชื้อเพลิงลดลง อีกทั้งแท่นขุดเจาะ shale oil ของสหรัฐสามารถกลับมาผลิตได้เต็มศักยภาพอีกครั้ง
4.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 38.2 ล้านคน ขยายตัว 8% จากปีก่อน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวราว 2.05 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว 12.6% โดยถือว่าเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวแตะระดับ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี โดยยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเป็นหลักเช่นเดิม
5.รายจ่ายภาครัฐ โดยในส่วนของรายจ่ายประจำ กรอบเพิ่มขึ้นจากการรวมงบเพิ่มเติมกลางปี ขณะที่คาดการณ์ว่าอัตราเบิกจ่ายลดลงเหลือ 97.6% แต่เม็ดเงินโดยรวมเพิ่มขึ้น ส่วนรายจ่ายลงทุน กรอบเพิ่มขึ้นจากการรวมงบเพิ่มเติมกลางปี และคาดการณ์อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ 66.3% ของกรอบรายจ่ายลงทุน ด้านรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจนั้น มีการปรับกรอบลงทุนรัฐวิสาหกิจตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ปี 61 ที่ราว 3.9 แสนล้านบาท โดยเป็นการปรับลดลงจากคาดการณ์ครั้งที่แล้ว เนื่องจากมีการนำงบเพิ่มทุนของ บมจ.ปตท. (PTT) ที่ให้กับบริษัทลูกออกประมาณ 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของงบเพิ่มเติมกลางปีงบ 61 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 75.9% ซึ่งเป็นงบที่นำไปใช้ในเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 2, การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรทั้งระบบ, การพัฒนาเชิงพื้นที่เชื่อมโยงเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน และการชดใช้เงินคงคลัง
ส่วนสมมติฐานเดียวที่ยังคงเดิม คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ที่ สศค.ยังคงคาดการณ์ไว้เท่าระดับเดิมที่ 1.50% เนื่องจากมองว่าแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อยังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล
น.ส.กุลยา กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้สูงสุดตามกรอบบนที่ 4.7% ว่า มีความเป็นไปได้ถ้าสมมติฐานทั้งหมดอยู่ในกรอบบนที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ในปัจจุบันมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเติบโตที่ระดับ 4.2% ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่าจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของปีนี้หรือไม่นั้น โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนถือว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกน้อยกว่าในแง่ของรายได้หรือกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า เนื่องจากมองว่ากำลังซื้อจากต่างประเทศยังมีอยู่มาก จึงเชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ยังสามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง
อินโฟเควสท์
คลัง ออกแผนลดหย่อนภาษีสำหรับ บริจาคเงินเข้า 4 กองทุน และสิทธิประโยชน์ภาษีในกลุ่ม สตาร์ทอัพ
คลัง เผย ครม.เห็นชอบเว้นภาษี 2 เท่าสำหรับบริจาคเงินเข้า 4 กองทุน ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการภาษีหนุนลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น นำรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน คือ กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่รวมกับการบริจาคเพื่อการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ
ด้านบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือ เพื่อการสาธารณประโยชน์
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังไม่มติเห็นชอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนที่ลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นเงินลงทุนในหุ้น เพื่อจัดตั้งหรือลงทุนในหุ้นเพิ่มทุน ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจเริ่มต้น สามารถนำเงินลงทุนดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ไม่น้อยกว่า 2 ปีต่อเนื่องกันนับแต่วันที่ลงทุนในหุ้นนั้น เว้นแต่ทุพพลภาพหรือตาย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
คลัง ประเมิน ขึ้นค่าแรง - สวัสดิการคนจนเฟส 2 หนุนจีดีพีปี 61 โต 4.2% พร้อมจับตาเก็งกำไรค่าเงินบาทใกล้ชิด
คลัง เชื่อขึ้นค่าแรง-สวัสดิการเฟส 2 กระตุ้นจีดีพีปี 61 โต 4.2% แต่ไม่ส่งผลต่อเงินเฟ้อมากนัก พร้อมระบุรัฐสูญรายได้ 5.4 พันลบ. จากมาตรการช่วยผู้ประกอบการบรรเทาผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ ยันพร้อมติดตามการเก็งกำไรค่าเงินบาทใกล้ชิด
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ได้ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี จะเติบโตที่ระดับ 4.2% โดยคาดว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อการบริโภคที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าการบริโภคจะขยายตัว 3.5% จากปีที่ผ่านมาขยายตัว 3.2% นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านสวัสดิการแห่งรัฐเฟส 2 ที่จะกระตุ้นภาคการบริโภคได้อีกช่องทางหนึ่ง
“เมื่อคำนวณแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้เฉลี่ย 5-22 บาท ไม่ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ หรือมีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมาก โดยปีนี้กระทรวงการคลังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 1.2% โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อนั้นมีหลายปัจจัย เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีผลมากนัก เนื่องจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ”นางสาวกุลยา กล่าว
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือ โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 1.15 เท่า ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับนายจ้างได้ ซึ่งคาดว่าจากการช่วยเหลือผ่านมาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้รัฐสูญรายได้ 5,400 ล้านบาท
สำหรับ อัตราเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องนั้น สาเหตุหลักมาจากดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่าค่อนข้างมาก แต่ยืนยันว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ขณะที่ล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ระบุว่า พบการเก็งกำไรหรือละเมิดมาตรการป้องปรามค่าเงินนั้น เชื่อว่า ธปท.จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับ กระทรวงการคลัง ที่จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าว และขณะนี้ยังไม่มีมาตรการพิเศษออกมาดูแลเพิ่มเติม
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย