- Details
- Category: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- Published: Wednesday, 28 July 2021 17:06
- Hits: 20526
เศรษฐกิจไทยมิถุนายน 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ(COVID-19) สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2564
เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวในอัตราที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง”
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวในอัตราที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง”
โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.6 และ 24.5 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 27.0 และ 13.7 ตามลำดับ
สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.3 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 43.1 จากระดับ 44.7 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลายลง
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ยังขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่มีสัญญาณชะลอลง โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 13.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 5.0 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -0.8 ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 6.3
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 23,699.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 43.8 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 41.6 ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 111.9 110.2 และ 81.5 ต่อปี ตามลำดับ 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง 4) กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และ 5) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำขยายตัวร้อยละ 78.5 และ 114.3 ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย อาเซียน-9 และจีน ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 123.9 42.8 และ 42.0 ต่อปี ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาคเกษตรยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.5 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และหมวดปศุสัตว์ ในขณะที่บริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 5,694 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอาเซียน
ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รัฐบาลได้เปิดโครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และ ‘สมุยพลัส’ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณสมบัติสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งในส่วนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ตั้งแต่วันที่ 1 – 25 กรกฎาคม 2564มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว จำนวน 11,585 คน สำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80.7 จากระดับ 82.3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มมีการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 55.4 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 246.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนกรกฎาคม2564
'ดัชนี RSI เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกภูมิภาคเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) อย่างไรก็ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือยังมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต”
'นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม2564จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด76 จังหวัดทั่วประเทศสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า “ดัชนี RSI เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกภูมิภาค เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) อย่างไรก็ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ยังมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต”
'ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 57.6 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นข้าวนาปีอ้อยโรงงานและมันสำปะหลัง ประกอบกับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับภาคอุตสาหกรรมคาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 56.1 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกันโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ส่งผลให้มีแนวโน้มผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ ยังมีความต้องการสินค้าเกษตรจากตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นตามการส่งออกของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 51.7สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรรม เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ลำไย และน้อยหน่า เป็นต้น
สำหรับ ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 46.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร เนื่องจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น มังคุด และทุเรียน เป็นต้น
ดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ 41.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรซึ่งยังมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว และคาดว่าจะมีความต้องการสินค้าเกษตรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ 40.2 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการลงทุนและการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องลดปริมาณการผลิต และลดชั่วโมงการทำงานลงในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ระดับ 37.7 สะท้อนภาวะอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่นกันโดยเฉพาะในภาคการลงทุน ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนลง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ