- Details
- Category: กรมสรรพสามิต
- Published: Tuesday, 05 September 2017 22:54
- Hits: 8040
ผู้เชี่ยวชาญห่วงเทรนด์ภาษีสรรพสามิตใหม่เก็บ 'ขั้นบันได'สินค้ากระทบสุขภาพซับซ้อน-สวนทางหลักเรียบง่าย
นางมัลลิกา ภูมิวาร ที่ปรึกษาธุรกิจภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศจากโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง จำกัด ชี้เห็นด้วยกับหลักจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อควบคุมด้านสุขภาพ แต่ติงเทรนด์จัดเก็บ'ภาษีขั้นบันได'หลังอนุมัติโครงสร้างภาษีน้ำหวานแบบหลายขั้นอัตรา เพิ่มความซับซ้อนของโครงสร้างภาษีที่สวนทางเทรนด์สากล ย้ำโครงสร้างภาษีที่ดีต้องเรียบง่ายเพื่อประสิทธิภาพในการจัดเก็บ
หลังงานสัมมนา "ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรภายใต้ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตใหม่" ที่จัดขึ้นโดยกรมสรรพสามิต และมีการเปิดเผยว่ากฤษฎีกากำลังอยู่ในระหว่างการตรวจร่างกำหนดอัตราภาษีความหวาน โดยมีการแบ่งค่าความหวานเป็น 5 ระดับนั้น "โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่จะเป็นแบบผสมคือเก็บทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณน้ำตาล โดยอัตราภาษีตามปริมาณจะแบ่งออกเป็น 6 ระดับนั้น เป็นการใช้โครงสร้างภาษีเพื่อส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลน้อยหรือหวานน้อยที่จะเป็นโทษต่อสุขภาพน้อยกว่า ซึ่งหากมองเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสุขภาพแล้วถือเป็นเรื่องที่ดี แต่โครงสร้างอัตราภาษีที่ซับซ้อนเช่นนี้สวนทางกับหลักระบบภาษีที่ดีและเทรนด์ในนานาประเทศที่หันมานิยมเก็บภาษีแบบ unitary rate หรือแบบอัตราเดียว เช่นในเม็กซิโกซึ่งได้ถูกใช้อ้างอิงเป็นกรณีศึกษาโดยองค์การอนามัยโลก กำหนดให้เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลต้องเสียภาษีความหวาน 1 เปโซต่อลิตร (อัตราเดียว) ซึ่งมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากกว่า" นางมัลลิกากล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีกล่าวถึงสินค้าอื่นที่มีโทษต่อสุขภาพ ได้แก่ สุรา และยาสูบ ที่จะมีการประกาศโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ในอีกไม่เกินสองสัปดาห์นี้ว่า "รัฐไม่ควรนำโครงสร้างภาษีแบบหลายขั้นอย่างที่จะใช้กับเครื่องดื่ม มาใช้กับสุรา ยาสูบ หากต้องการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี สมควรใช้แนวทางสากลที่กำหนดอัตราภาษีเดียว ไม่ต้องแบ่งขั้นอัตราตามช่วงราคาหรือช่วงปริมาณ เพราะในมุมมองของสุขภาพแล้วสินค้าที่มีโทษเท่ากันก็สมควรเสียภาษีในอัตราเดียวกัน และในมุมมองของการจัดเก็บภาษีแล้ว สินค้ากลุ่มสุรายาสูบเป็นกลุ่มที่เสียภาษีสูงมากเป็นลำดับต้นๆ ดังนั้น ระบบโครงสร้างภาษีของสินค้ากลุ่มนี้จึงต้องชัดเจนเรียบง่ายเพื่อลดแรงจูงใจหรือช่องโหว่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี ประสบการณ์ในนานาประเทศและข้อแนะนำจากองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ชี้ชัดว่าการกำหนดอัตราภาษีแบบหลายขั้นจะเป็นการลดประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีนั้นๆ นอกจากนี้ยังอยากให้คำนึงถึงในระดับปฏิบัติการด้วยทั้งในเรื่องของการคีย์ข้อมูลและความง่ายในการประกอบธุรกิจและเชื่อมต่อข้อมูลกันระหว่างกรมจัดเก็บต่างๆ"
นางมัลลิกา กล่าวเสริมว่า "ล่าสุดกรมสรรพสามิตเองเพิ่งประกาศตัวเลขการจัดเก็บในรอบ 10 เดือน ภาษียาสูบยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าถึง 15 % สาเหตุหลักคือบริษัทบุหรี่ต่างใช้วิธีหลีกเลี่ยงภาษีหรือลดภาระภาษีด้วยการออกสินค้าราคาต่ำๆ โดยอาศัยช่องว่างในระบบภาษียาสูบในปัจจุบัน แม้ที่ผ่านมาจะขึ้นอัตราภาษียาสูบแต่ก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน ขณะที่ภาษีสุราและเบียร์รวมกันเก็บได้พลาดเป้าไป 0.4% หากรัฐคำนึงถึงเป้าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณใหม่ที่สูงถึง 6 แสนล้านบาท ก็ต้องพิจารณาออกแบบโครงสร้างอัตราภาษีใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เสียภาษีสูงๆ เหล่านี้โดยกำหนดอัตราภาษีแบบอัตราเดียว เพื่อการันตีรายได้ภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และรัฐจะได้ไม่ต้องห่วงเรื่องเก็บภาษีไม่เข้าเป้าอีก"