- Details
- Category: กรมสรรพสามิต
- Published: Friday, 07 November 2014 23:32
- Hits: 2829
เก็บภาษีรถยนต์หลุดเป้า 2 พันล. โชว์ 10 เดือนธุรกิจขยายงานเพิ่ม 9%
ไทยโพสต์ * 'สรรพสามิต'รับเดือนแรกของปีงบประมาณ 58 ยอดเก็บภาษีพลาดเป้า อ้างปัจจัยหลัก ผู้บริโภคนิยมใช้รถอีโคคาร์ เร่งหารือค่ายรถยนต์ประเมินแนวโน้มการขายรถปีหน้า ด้าน กรอ.เผยยอดขออนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการ 10 เดือนแรกปี 57 จำนวน 4,445 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 469,429 ล้านบาท
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในเดือน ต.ค.2557 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เก็บ ได้ 3.39 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าประมาณ 500 ล้านบาท เนื่อง จากการเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าเป้าประมาณ 2 พันล้านบาท ทำให้ฉุดการเก็บภาษีของกรมในภาพรวม ส่วนการเก็บภาษีตัวอื่นๆ ทั้งภาษีน้ำมัน เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย
สำหรับ การเก็บภาษีรถยนต์ยังต่ำกว่าเป้า โดยทางกรมสรรพสามิตจะได้เรียกค่ายรถยนต์ต่างๆ เข้ามาหารือถึงแนวโน้มการขายรถยนต์ในอนาคตว่าจะขยายตัวได้มากขนาดไหน เพื่อจะได้นำมาประเมินการเก็บภาษีของกรมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตคาดว่า การเก็บภาษีรถยนต์จะได้ตามเป้า เพราะปกติจะมีการซื้อรถยนต์กันมากในช่วงปลายปีของทุกปีไปจนถึงปีใหม่ เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการส่งเสริมการขายกันจำนวนมาก รวมถึงมีการจัดงานขายรถ ยนต์เป็นประจำทุกปี
"การเก็บภาษีที่ต่ำกว่าเป้า 500 ล้านบาท ถือว่าไม่มาก และเชื่อว่าทั้งปีจะเก็บได้ตามเป้า 4.21 แสนล้านบาท ซึ่งการเก็บภาษีรถยนต์เดือนแรกน่าจะมาจากผู้ใช้รถนิยมใช้รถอีโคคาร์ที่มีอัตราภาษีต่ำ ทำให้การซื้อรถขนาดใหญ่ รถหรู และซูเปอร์คาร์ก็น้อยลงด้วย" นายสมชายกล่าว
นายสมชายกล่าวอีกว่า กรมสรรพสามิตได้เสนอการแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดยจะเปลี่ยนการเก็บภาษีสรรพสามิตจากราคาหน้าโรงงานเป็นราคาขายปลีก ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีบางส่วนที่กังวล เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศที่ผลิตอยู่ในเขตปลอดอากร (ฟรีโซน) เมื่อนำรถยนต์มาขายในประเทศก็ใช้ราคาสำแดงนำเข้าเป็นฐานเสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งจะต่ำกว่าการใช้ราคาขายปลีก ทำให้ค่ายรถยนต์ดังกล่าวขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้รอบคอบในการแก้กฎหมายครั้งนี้
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.2557 มียอดขออนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการรวม 4,445 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 469,429.75 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2556 ที่มียอดรวม 430,696.16 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 9%
ทั้งนี้ คาดว่าผลจากมาตร การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณจากภาครัฐในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2558 ให้ได้ประ มาณ 35% ของงบประมาณในภาพรวม ก็เชื่อว่าจะทำให้ตัวเลขการประกอบกิจการเพิ่มขึ้นเช่นกัน และจนถึงสิ้นปี 2557 คาดว่าจะมียอดขออนุญาตประกอบการใหม่และขยายกิจการคิดเป็นมูลค่ารวมตลอดปี เพิ่มขึ้น 5-10% โดยจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท
นายพสุ กล่าวถึงอุตสาหกรรมที่มียอดขอประกอบกิจการใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อโลหะ โลหะ ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งซ่อมแซมยานพาหนะ แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และอุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่อุตสาหกรรมที่ขยายกิจการมากที่สุด ได้แก่ กิจการรถยนต์ มีการลงทุนสูงสุด 12,298 ล้านบาท โรงงานเกี่ยวกับผลิตไฟฟ้า วงเงินลงทุนอยู่ในช่วง 2,000-6,000 ล้าน บาท ส่วนโรงงานที่มีเงินลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านบาท มีจำนวน 45 โรงงาน.