- Details
- Category: กรมสรรพสามิต
- Published: Thursday, 18 September 2014 22:55
- Hits: 3110
สมหมาย สั่งกรมสรรพสามิต ปฎิรูปการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และส่งเสริมสุขภาพของประชาชน
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า นายสมหมาย ภาษีรมว.คลัง ได้ขอให้กรมพิจารณาทบทวนโครงสร้างภาษีของกรมสรรพสามิต เพื่อสร้างความเป็นธรรม ,เป็นไปตามหลักสากล,และส่งเสริมสุขภาพของประชาชน
รมว.คลังเห็นว่า กฎหมายภาษีที่ล้าหลังควรได้รับการปรับปรุง และการเก็บภาษีตัวใดที่ไม่คุ้มค่ากับการจัดเก็บ ควรยกเลิก ซึ่งกรมได้หารือกับ สศค แล้วในเรื่องนี้ ดังนั้นกรมก็จะทบทวนการจัดเก็บภาษีบางตัว เช่น ภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสนามกอล์ฟ และภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากธุรกิจสปา ซึ่งกรมได้รับภาษีจากสองธุรกิจนี้ในหลักร้อยกว่าล้านบาท เทียบกับรายได้ของกรมที่เป็นระดับแสนล้านบาท/ปี นับว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่กรมจะต้องใช้บุคลากร เข้าไปดูแลตรวจสอบ การจัดเก็บภาษี
นอกจากนี้ การยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย จากจุดแข็งที่ประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยว การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสนามกอล์ฟ และสปา ก็จะเป็นการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบัน กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีสรรพสามิต จากค่าสมาชิกสนามกอล์ฟ ในอัตรา 10 % และค่าใช้บริการสนามกอล์ฟ อีก 10 % ส่วนปา จัดเก็บในอัตรา 10 % ยกเว้นกรณีที่เป็นสปาที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข จะได้รับการยกเว้นภาษี
ส่วนการปรับปรุงภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม นั้น กรมจะยึดหลักของสากล ตามมาตรฐานของ Codex เพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนดื่ม โดยจะปรับปรุงเกณฑ์การยกเว้นภาษีเครื่องดื่ม ประเภทน้ำผัก ผลไม้ จากปัจจุบันที่มีส่วนผสมเฉลี่ย ประมาณ 10 % ให้สูงขึ้น โดยอิงตามหลักการสากล ของน้ำผัก ผลไม้แต่ละชนิด ซึ่งอาจกำหนดสัดส่วนไม่เท่ากัน บางชนิด อาจกำหนดแค่ 30 % บางชนิดอาจกำหนดสูงถึง 5 0%
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิต ได้ปรับปรุงการให้บริการด้านการจัดเก็บภาษีของกรม ให้มีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของ รมว.คลังคนใหม่ ที่ต้องการให้กรมจัดเก็บภาษี มีความเป็นมิตร และมองผู้เสียภาษีในฐานะผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทชาติ
นอกจากนี้ กรมยังได้ปรับปรุง ระเบียบภายในของกรม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียภาษี และช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้เสียภาษี โดยในกรณีสินค้าที่ผลิตในประเทศและมีภาระภาษีสรรพสามิต แต่ได้มีการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปขายต่างประเทศด้วย เดิมนั้นผู้ประกอบการจะต้องมาดำเนินเรื่องขอคืนภาษีจากกรมในภายหลัง ซึ่งมีขั้นตอน และต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นกรมจึงได้แก้ไข โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิต สำหรับสินค้าส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินเรื่องของคืนภาษี ลดเวลา และช่วยประหยัดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการเป็นหลักร้อยล้านบาท จากภาษีที่ผู้ประกอบการต้อง เดินเรื่องขอคืนจากกรมต่อปีประมาร 5 พันล้านบาท
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย