- Details
- Category: กรมสรรพากร
- Published: Saturday, 22 October 2022 14:11
- Hits: 2425
สรรพากร ยกระดับการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศตามแนวทาง OECD เริ่มใช้ปี ๒๕๖๖
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ อนุมัติหลักการในการเข้าร่วมเป็นภาคี ความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: CbC MCAA) เพื่อยกระดับการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Reports: CbCR) ให้เป็นมาตรฐานสากลตามแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ในปี ๒๕๖๖ เป็นต้นไป
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือของ OECD ที่มุ่งเน้นการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting) ตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก ๑๔๑ ประเทศ โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวกำหนดให้การรายงานข้อมูล CbCR เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการให้สอดคล้อง ตามมาตรฐานสากลที่กำหนด
ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูล CbCR แบบอัตโนมัติระหว่างประเทศสมาชิก กรมสรรพากรจึงเตรียมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตรากฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่ แจ้งข้อความตามรายงานข้อมูล CbCR เริ่มแจ้งข้อมูล ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป และกำหนดส่งข้อมูลครั้งแรกภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ นี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๐๘) และกรมสรรพากรได้เตรียมการเพื่อเริ่มแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูล CbCR
โดยเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CbC MCAA ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศ แบบพหุภาคีที่กำหนดให้ประเทศภาคีแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูล CbCR แบบอัตโนมัติเป็นรายปี ปัจจุบัน มีภาคี ๙๒ ประเทศ สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ประเทศไทยจะลงนามเข้าเป็นภาคีในความตกลง CbC MCAA และจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศภาคีครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖”
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CbC MCAA เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูล CbCR ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก กล่าวคือ กลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลข้ามชาติ (MNE Group) ที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุด อยู่ในประเทศไทยจะสามารถยื่นรายงานข้อมูล CbCR ผ่านประเทศไทยได้
นอกจากนี้ ประเทศไทยจะได้รับรายงานข้อมูล CbCR จากประเทศภาคีที่เป็นที่ตั้งของ MNE Group และมีกิจการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการ ช่วยส่งเสริมความโปร่งใส สร้างความเป็นธรรม และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ รวมถึงส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป”