- Details
- Category: กรมสรรพากร
- Published: Tuesday, 21 October 2014 22:34
- Hits: 2474
สรรพากร จัดระเบียบผู้ค้าผ่านเนต สกัดเลี่ยงภาษีทำรัฐสูญรายได้
แนวหน้า : สรรพากรจัดระเบียบผู้ค้าผ่านเนต สกัดเลี่ยงภาษีทำรัฐสูญรายได้ ตั้งเป้าปี 58 ดึงเข้าระบบ 20-30%
สรรพากรเรียกผู้ค้าผ่านเนต(อี-คอมเมิร์ซ )ทำความเข้าใจ สกัดการหลีกเลี่ยงภาษี ปลื้มจัดเก็บรายได้ 15 วันแรกของปีงบประมาณ58 เกินเป้าแล้วกว่า 1.4 พันล้านบาท มั่นใจทั้งปีไม่มีปัญหา เพราะได้อานิสงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การบริโภคกระเตื้อง
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง”การเสียภาษีของผู้ประกอบการธุรกิจE-Commerce”เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ว่าได้เรียกผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) มาหารือถึงแนวทางการเสียภาษีให้ถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซยังไม่มีความเข้าใจถึงการเสียภาษี หรือบางรายมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี เช่นการปิดบัญชีเงินฝาก การเปลี่ยนชื่อธุรกิจ นิติบุคคลใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย โดยในปี 2556 มีรายย่อยที่ยังขาดความเข้าใจในการเสียภาษีมากถึง 9 หมื่นราย หรือคิดเป็น 58% ของผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหมด 1.55 แสนราย คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 7.44 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจง เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจกระบวนการทำธุรกิจ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ ตลอดจนการเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตกรณีไม่เสียภาษี แล้วถูกตรวจพบ อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องกับธุรกิจได้ เนื่องจากกรมฯมีข้อมูลผู้ประกอบการทั้งหมด โดยเฉพาะการทำธุรกิจ ที่มีการโอนรายได้เข้าบัญชี จะสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน กรมฯก็จะส่งจดหมายถึงผู้ประกอบการที่ไม่เสียภาษีมาดำเนินการให้ถูกต้อง รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้นำป้ายโฆษณาบนเว็บไซต์ หรือแบนเนอร์ของกรมฯไปขึ้นหน้าเว็บไซด์เพื่อเชื่อมโยงการให้ข้อมูลด้วย
“ในปี 2555 มูลค่าการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท แต่ในปี 2556 ขยายตัวเป็น 7 แสนล้านบาท หรือโตกว่า 20% สะท้อนให้เห็นการขยายตัวที่รวดเร็วของธุรกิจดังกล่าว แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ที่ยังขาดความรู้ในการเสียภาษีที่ถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ที่กรมฯต้องให้แนวทางปฏิบัติ ซึ่งคาดว่าในปี 2558 จะมีผู้เข้าระบบเพิ่มอีกประมาณ 20-30%” นายประสงค์ กล่าว
นายประสงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.บีทูจี คือ ธุรกิจที่ทำกับรัฐบาล คิดเป็นประมาณ 100 ราย หรือ 45% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งระบบ 2.บีทูบี คือ ซื้อขายระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง มีประมาณ 10,000 ราย หรือคิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 30-40% แต่ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวไม่ค่อยพบปัญหา เมื่อเทียบกับ กลุ่มที่ 3 คือ บีทูซี เป็นธุรกิจกับลูกค้า โดยกลุ่มนี้มีสัดส่วน 16% และส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ที่ไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีให้ถูกต้อง
สำหรับ การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558(1 ตุลาคม 2557-30 กันยายน 2558)อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่าใน ช่วง 15 วันแรกของเดือนตุลาคมนี้ พบว่าสามารถจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าของเดือนไปแล้ว 1,400 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ทำให้คาดว่าทั้งปีงบประมาณการจัดเก็บรายได้ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการบริโภคมากขึ้น เช่น การลงทุนภาครัฐและเอกชน การอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ในที่สุด
อนึ่ง ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2557(1 ตุลาคม 2556-30 กันยายน 2557) จัดเก็บได้ 2.07 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 201,088 ล้านบาท หรือ 8.8% เนื่องจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย