- Details
- Category: กรมศุลกากร
- Published: Saturday, 05 July 2014 16:23
- Hits: 2708
คลังหน้ามืดเร่งเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจ สั่งรวบรัดประมูลงาน'อี-อ๊อกชั่น'
แนวหน้า : กรมศุลฯยอมรับจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ในระดับหมื่นล้าน ขณะที่ กรมบัญชีกลาง ห่วงกระทบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หลังพบเบิกจ่ายภาพรวมได้แค่ร้อยละ 68.12 ส่วนเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้เพียงร้อยละ 48.82 เร่งเบิกจ่ายผ่านการประมูลงานรัฐแบบ 'อี-อ๊อกชั่น'เพื่อให้ได้ผู้รับเหมาเร็วที่สุด
นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56-มิ.ย.57)ของ กรมศุลกากร ต้องยอมรับว่ามีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ในระดับหมื่นล้าน โดยในวันที่ 5 ก.ค.57 ได้เตรียมเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีของกรมให้กับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา
ในเบื้องต้นจะมีการเสนอแก้กฎหมายกรมศุลกากรทั้งฉบับ จากที่ผ่านมาได้มีแนวคิดที่จะแก้เป็นส่วนๆ นอกจากนี้ทางกรมยังได้มีแผนเน้นพัฒนาบุคลากรของกรมศุลกากร เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่มาทดแทนบุคลากรที่กำลังจะเกษียณในอนาคต
ด้าน นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4กรกฏาคม 2557 ได้มีการประชุมการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายภาพรวมที่ร้อยละ 95 และรายจ่ายลงทุนที่ร้อยละ 82
นายมนัส กล่าวว่า สำหรับการเบิกจ่ายงบฯ ทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดให้การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นภารกิจเร่งด่วน ซึ่งทุกหน่วยงานต้องถือปฏิบัติ และคงเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ตามที่ ครม.กำหนด
อย่างไรก็ตาม จากผลการเบิกจ่ายเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 เบิกจ่ายภาพรวมได้เพียงร้อยละ 68.12 และเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้เพียงร้อยละ 48.82 เท่านั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าผลการเบิกจ่ายเงินในปีนี้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะเบิกจ่ายภาพรวมได้ร้อยละ 90.8 และเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้ร้อยละ 65 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน ที่เดิมเคยคาดไว้ว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจสูงถึง 2.399 ล้านล้านบาท นอกจากนี้จะส่งผลกระทบต่อคะแนนการประเมินตามคำรับรองการปฏิบัติราชการที่ทุกหน่วยงานได้ลงนามไว้กับสำนักงาน กพร. ที่อาจจะได้คะแนนต่ำ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับจำนวนเงินรางวัลที่แต่ละส่วนราชการจะได้รับด้วย
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ผลการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามเป้าหมาย กรมบัญชีกลางจึงพยายามแก้ไขโดยได้กำหนดมาตรการสนับสนุนการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ลดระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้างแต่ยังคงอยู่ภายใต้หลักการการดำเนินการตามระเบียบด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จำนวน 4 มาตรการ คือ
1.การยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบฯการประกวดราคาทางอิเล็กทรินิกส์หรือ e-Auction (อี-อ๊อกชั่น)กรณีที่มีผู้มีสิทธิเสนอราคารายเดียว ให้หัวหน้าหน่วยงานสามารถดำเนินการต่อรองราคากับผู้เสนอราคารายนั้น และดำเนินการต่อไปได้ โดยได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพอ) 0421.3/พ 0029 ลงวันที่ 27 มกราคม 2557
2.ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบฯ กรณีที่สามารถจัดหาด้วยวิธีการอื่นได้โดยไม่ต้องจัดหาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเดิมจัดหาโดยวิธี e-Auction แล้วไม่ได้ผล ซึ่งตามระเบียบฯ e-Auction ต้องจัดหาใหม่โดยวิธี e-Auction หรือทำเรื่องขอยกเว้นมาที่ กวพ.อ. ทำให้เป็นภาระกับส่วนราชการต้องดำเนินการ จึงให้ส่วนราชการสามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าหากการจัดหาเข้าหลักเกณฑ์สามารถใช้วิธีอื่น หรือวิธีพิเศษได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก กวพ.อ.
3.ผ่อนคลายการดำเนินการตามระเบียบฯ e-Auction ซึ่งในระหว่างการอุทธรณ์ให้หน่วยงานดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้เลย ไม่ต้องระงับการดำเนินการไว้ก่อน ซึ่งทำให้สามารถก่อหนี้ได้เร็วขึ้นภายใน 42 วัน จากเดิม 85 วัน และ 4. กวพ. และ กวพ.อ. มีนโยบายในการพิจาณาผ่อนคลายระเบียบพัสดุฯ 2535 และระเบียบฯ e-Auction เพื่อให้ทันกับการก่อหนี้และเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณ 2557
นายมนัส แจ่มเวหา กล่าวว่า นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว ยังมีมาตรการสุดท้ายที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโด ยกรมบัญชีกลาง จะนำเสนอรมว.คลังเพื่อขอความเห็นชอบมาตรการการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี กรณีไม่มีหนี้ หากหน่วยงานยังไม่เริ่มดำเนินการก่อหนี้ผูกพันภายใน 30 กันยายน 2557 จะไม่อนุมัติให้กันเงิน เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นอย่างยิ่งยวด