- Details
- Category: กรมศุลกากร
- Published: Friday, 04 July 2014 17:42
- Hits: 3227
กรมศุลฯประมูลขายรถหนีภาษี ทำรายได้ส่งเข้ารัฐกว่า 600 ล้าน
แนวหน้า : กรมศุลกากรเปิดทำการเปิดประมูลขายทอดรถยนต์ของกลางจำนวน 355 คัน โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่าการประมูลครั้งนี้น่าจะทำรายได้เข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 600-700 ล้านบาทจากเมื่อปี 2556 ประมูลขายรถยนต์ของกลางทั้งสิ้น 279 คัน ทำรายได้เข้ารัฐกว่า 546 ล้านบาท
สำหรับ รถยนต์ของกลางที่ประมูลในลำดับที่1 คือรถยนต์ยี่ห้อ เบนท์ลีย์รุ่นคอนติเนนทัล เปิดประมูลด้วยราคา 2.2 ล้านบาท และรถยนต์ที่มีราคาประมูลสูงสุดของงาน ได้แก่ ลำดับที่ 5 คือ ลัมโบกีนี รุ่น อเวนทาดอร์ เปิดประมูลด้วยราคา 19 ล้านบาท แต่ในรุ่นดังกล่าวไม่มีใครชนะประมูลได้ เนื่องจากผู้เข้าร่วมประมูลราคาต่ำเกินไปจากราคาประเมินที่จะต้องได้ 26 ล้านบาท จึงเก็บไว้เพื่อนำไปประมูลในครั้งถัดไป ส่วนรถยนต์ที่มีราคาเปิดประมูลต่ำสุดของงานมีจำนวน 2 คัน ได้แก่ ยี่ห้อ โรเวอร์ รุ่น มินิ เปิดประมูลด้วยราคา 6.3 หมื่นบาท
นายสมชัย ยอมรับว่า การประมูลในครั้งนี้ไม่ค่อยคึกคักส่วนหนึ่งอาจมาจากมาตรการของกรมสรรพากรที่จะเข้ามาตรวจสอบภาษีบุคคลที่มีบ้านหรือรถมูลค่า 30-40 ล้านบาททำให้ผู้เข้าร่วมประมูลจึงไม่กล้าเรียกในราคาที่สูงแต่เบื้องต้นจะนำราคาประเมินไปปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมมากกว่านี้โดยเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่าหากไม่ได้ราคาประเมิน บวกกับภาษี ก็จะไม่ขายออกไป เพราะรัฐจะเสียประโยชน์
โดยในส่วนของการลงทะเบียนให้เป็นไปตามราคาเปิดประมูล คือ รถยนต์ราคาเปิดประมูลต่ำกว่า 2 ล้านบาท ต้องวางเงินค้ำประกันคันละ 50,000 บาท ส่วนรถยนต์ราคาเปิดประมูลตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต้องลงเงินค้ำประกันคันละ 300,000 บาท และได้กำหนดยกป้ายเสนอราคาแต่ละครั้ง เช่น รถยนต์ราคาเปิดต่ำกว่า 500,000 บาท ราคาเพิ่มครั้งละ 5,000 บาท ราคาระหว่าง 500,000-1,000,000 บาท ราคาจะเพิ่มครั้งละ 20,000 บาท ราคาระหว่าง 1,000,000-2,000,000 บาท เพิ่มครั้งละ 50,000 บาท และราคาตั้งแต่ 2,000,000บาทขึ้นไป ราคาจะเพิ่มครั้งละ 100,000 บาท
“การประมูลครั้งนี้คณะรักษาความสงบ(คสช.)ได้เน้นย้ำถึงเรื่องความโปร่งใส่ โดยเมื่อ1-2 วันที่ผ่านมาก่อนเปิดการประมูล ได้สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรถที่จะนำมาประมูลทุกคัน โดยทุกคันจะต้องมีสมองกล เพื่อให้เป็นไปอย่างโปร่งใส”นายสมชัย กล่าว
กรมศุลติดเทอร์โบรีดภาษี'สมชัย'ลั่น 3 เดือนก่อนสิ้นงบฯเร่งทำเป้า 1.3 แสนล.
บ้านเมือง : กรมศุลกากรเล็งปรับเพิ่มมูลค่าสินค้านำติดตัวเข้าประเทศ จากเดิม 1 หมื่นบาท เป็น 8 หมื่นบาท ระบุเป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ด้าน อธิบดีกรมศุลฯ เผยติดเทอร์โบ 2-3 เดือนที่เหลือ รีดรายได้ให้เข้าเป้า 1.3 แสนล้าน วางกลยุทธ์บริหารงานสอดรับนโยบาย คสช.
แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมศุลกากรกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศสามารถนำติดตัวเข้ามาในประเทศไทยได้ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ไม่เกิน 10,000 บาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาท หรือไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานเพื่อเสนอต่ออธิบดีกรมศุลกากรเพื่อตัดสินใจก่อนออกเป็นประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับ สาเหตุที่ต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าที่นำติดตัวเข้ามาภายในประเทศทั้งชาวไทยและต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะกฎหมายที่บังคับใช้ดังกล่าวมีมานานหลายสิบปี ไม่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นของคนไทยในปัจจุบันและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยพิจารณาได้จากยอดการค้าชายแดนที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้กรมศุลกากรอนุญาตให้นักธุรกิจสามารถถือเงินติดตัวได้มากขึ้น จากเดิม 20,000 บาท ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 500,000 บาท
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันหากมีการซื้อสินค้าติดมือกลับบ้านเพื่อเป็นของขวัญหรือของที่ระลึก เพียง 2-3 ชิ้นถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากราคาสินค้าบางชนิดมีราคาแพงและคนไทยก็มีรายได้สูงขึ้น การซื้อสินค้าเพียง 2-3 ชิ้นราคาก็ทะลุเกิน 10,000 บาทแล้ว กรมศุลกากรจึงเห็นควรให้เพิ่มมูลค่าของสินค้าที่จะนำติดตัวเข้ามาภายในประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทาง ยกเว้นกรณีที่ผู้โดยสารบางราย มีเจตนาที่จะขนสินค้าต่างประเทศเพื่อเข้ามานำจำหน่ายภายในประเทศ ที่จะยังคงดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อไป
ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมศุลกากรพยายามเร่งดำเนินงานในการจัดเก็บรายได้ภาษีให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ที่ 1.3 แสน ล. โดยกรมฯ จะพยายามทำให้ได้มากที่สุด แต่หากไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 เดือนที่เหลือจากนี้ก็ต้องพยายามเร่งรัดในการจัดเก็บรายได้ต่อไป สำหรับมาตรการอื่นๆ ที่ต้องสอดรับนโยบาย คสช.ส่วนหนึ่ง คือ เตรียมพร้อมประชาคมอาเซียน ซึ่งบทบาทกรมศุลกากรคือ NSW โดยถือเป็นเรื่องต้นๆ ที่ต้องดำเนินการ รวมถึงแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเอกชน ซึ่งกรมฯ ก็ดำเนินการอยู่และเสนอเป็นโรดแม็พ คสช.เพื่อให้กรมฯ โปร่งใสมากขึ้นเรื่องของการบริหารและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องได้รับการแก้ไข
"ยกตัวอย่างกรณีไม่เป็นธรรมต่อเอกชนที่ต้องปรับ เช่น ทำผิดกรณีไม่ตั้งใจเล็กน้อยก็ปรับเท่ากับตั้งใจ คือ 4 เท่า เท่ากัน ก็ไม่เหมาะสม ก็ต้องปรับ และมีประเด็นที่ต้องอธิบาย คสช.ให้เข้าใจ คือ ยืดหยุ่น 0-4 เท่า คิดว่ากฎหมายทำนองนี้ อาจไม่เป็นธรรมและเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ" นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดประมูลขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง ประจำปี 2557 จำนวน 355 คัน ว่า กรมศุลฯ ได้มอบหมายให้บริษัทสหการประมูล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง ซึ่งได้เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถชมสภาพภายนอกรถยนต์ของกลางที่จะขายทอดตลาดได้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.-2 ก.ค.ที่ผ่านมา สำหรับรถยนต์ที่มีราคาสูงสุดในงาน ได้แก่ รถยนต์ยี่ห้อ LAMBORGHINI รุ่น AVENTADOR 6500 ซีซี. ปี 2012 เปิดประมูลด้วยราคา 19 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดประมูลไปได้ แม้กรมศุลกากรจะตั้งราคาขายที่ 25 ล้านบาท ก็ยังไม่มีผู้ใดตัดสินใจ ทางกรมศุลฯ จึงเก็บรถยนต์คันดังกล่าวไป เพื่อรอประมูลในโอกาสต่อไป
"การประมูลครั้งนี้มีรถยนต์ถึง 300 กว่าคัน ในช่วงแรกที่อาจะได้ราคาที่ไม่ดี ที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะราคาของเราที่ประเมินเอาไว้ อาจปรับปรุง แต่ผมย้ำเสมอว่า ถ้าไม่ได้ราคาเท่ากับการประเมินบวกภาษี จะไม่มีการขาย ไม่เช่นนั้นจะเสียประโยชน์ต่อรัฐ ถ้าขายไม่ได้ ก็ต้องประเมินราคาใหม่ และช่วงนี้อาจจะมีมาตรการของกรมสรรพากรที่จะเข้าไปตรวจสอบบุคคลที่ครอบครองรถยนต์และบ้านราคาเกินกว่า 3 ล้านบาท ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้ไม่ค่อยคึกคัก แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญมากนัก คิดว่าเงินจะเข้าหลวงระดับหนึ่ง โดยคาดว่า การประมูลในครั้งนี้ จะสร้างรายได้เข้ารัฐได้ประมาณ 600 กว่าล้านบาท" นายสมชัย กล่าว
นอกจากนั้น ตนได้ย้ำเรื่องความโปร่งใสว่า อย่าให้มีข้อตำหนิได้ว่า มีการเอาสมองกลออกจากรถ เป็นต้น ก่อนหน้าการประมูลตนก็ให้ตรวจอย่างละเอียดรถยนต์ทุกคัน ก็ได้รับการยืนยันว่ามีสมองกลทุกคัน