- Details
- Category: กรมศุลกากร
- Published: Saturday, 14 May 2022 11:55
- Hits: 10078
กรมศุลกากร ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และชี้แจงเรื่องอัตราอากรขาเข้าที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat)
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายอาหาร ผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ WTO ในโควตา ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 (3 เดือน) ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ปริมาณข้าวโพดไม่เกิน 6 แสนตัน หรือร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ ดังนั้น กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) จึงได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในโควตา ประเภทพิกัด 1005.90.99 รหัสย่อย 71 และจะมีผลบังคับใช้นับจากวันถัดจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565
นอกจากนี้ ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 กำหนดให้ผู้โดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์ และผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย ทำให้ประชาชนให้ความสนใจในภาษีอากรขาเข้าที่อาจส่งผลต่อราคาของสินค้าดังกล่าว
สำหรับ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) จัดเป็นของในประเภทพิกัด 9401.80.00 โดยมีอัตราอากรขาเข้า อยู่ที่ร้อยละ 20 แต่หากนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศไทยมีอยู่ก็จะสามารถใช้สิทธิพิเศษยกเว้นอากรขาเข้าได้สำหรับทุกความตกลง อย่างไรก็ตาม การลดอัตราอากรขาเข้าเป็นการทั่วไปให้ต่ำกว่าร้อยละ 20 นั้น เป็นเรื่องนโยบายซึ่งกรมศุลกากรอยู่ระหว่างการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อให้อัตราอากรของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนโครงสร้างอากร กองพิกัดอัตราศุลกากร หมายเลขโทรศัพท์ 02-667-7000 ต่อ 4889 หรือ 7325 หรือสอบถามปัญหาทางศุลกากร ศูนย์บริการศุลกากร (Customs Care Center) หมายเลข 02-667-6656 หรือสายด่วน 1164