- Details
- Category: กรมศุลกากร
- Published: Friday, 02 July 2021 23:15
- Hits: 20204
กรมศุลกากรจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 147 ปี มุ่งมั่นพัฒนาระบบศุลกากรให้เป็นเลิศด้านบริการ พร้อมปกป้องสังคมอย่างยั่งยืน
กรมศุลกากรครบรอบ 147 ปี ได้จัดพิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ และกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) โดยทำการถ่ายทอดผ่านระบบ Video Conference : Zoom Cloud Meeting และปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ณ บริเวณห้องโถง อาคาร 1 กรมศุลกากร
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศุลกากรครบรอบ 147 ปี กรมศุลกากรได้จัดพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมศุลกากร และพิธีทางศาสนา ได้แก่ ถวายภัตตาหารเช้าแด่คณะสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ ถวายเครื่องสังฆทาน จากนั้น มอบรางวัลเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น รางวัลข้าราชการผู้ประพฤติปฏิบัติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รางวัลคนดีศรีศุลกากร รางวัลข้าราชการผู้มีผลงานดีของกรมศุลกากร และรางวัลคนดีศรีหน่วยงาน รวมทั้ง การมอบทุนการศึกษาบุตรผู้มีรายได้น้อย และทุนช่วยเหลือการศึกษาบุตร ผู้ประสบภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน รวมถึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสฯ จากการปฏิบัติหน้าที่ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) มอบสิ่งของ ได้แก่ หน้ากากอนามัย จำนวน 400,000 ชิ้น เครื่องวัดอุณหภูมิ จำนวน 1,100 เครื่อง ชุด PPE จำนวน 900 ชุด และเจลแอลกอฮอล์ 2,000 ขวด ให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล สำนักงานเขตคลองเตย ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย และสำนักการแพทย์และอนามัยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งกรมศุลกากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งของดังกล่าว จะสามารถบรรเทาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องได้อีกทางหนึ่ง
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-พฤษภาคม 2564) กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บรายได้รวม 340,465 ล้านบาท โดยเป็นการจัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น 273,037 ล้านบาท และเป็นการจัดเก็บรายได้ศุลกากร 67,428 ล้านบาท มีผลการจับกุมจำนวน 18,032 แฟ้มคดี มูลค่าการจับกุม 1,586.67 ล้านบาท ในด้านของการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร ได้ขยายเวลาให้เรือสำราญและกีฬาเข้ามาในประเทศไทยได้ชั่วคราว จาก 6 เดือนเป็น 2 ปี 6 เดือน และให้เรือซุปเปอร์ยอร์ชเข้ามาในประเทศได้ชั่วคราว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ และสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรือพัฒนาและมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการแก้ไขพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น
รวมถึงได้แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญพิกัดอัตราศุลกากรประจำสำนักงานและคณะทำงานพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรประจำสำนักงาน เพื่อให้การพิจารณาปัญหากรณีมีการโต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราศุลกากรเป็นไปด้วยความถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส รวมถึงร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในการพัฒนาระบบลงทะเบียนออนไลน์ทาง Customs Trader Portalที่ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ทันที ช่วยให้ผู้นำเข้า-ส่งออกได้รับบริการที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังเร่งรัดผลักดันการพัฒนาระบบ National Single Window ในด้านระเบียบและการดำเนินงานให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของการดำเนินงานในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รวมถึงจัดทำร่างประกาศกรมศุลกากร เพื่อรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation)เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ช่วยลดข้อจำกัดที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ ด้านมาตรการรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) มีการแก้ไขประกาศฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านพิธีการศุลกากรแก่ของใช้หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้สามารถนำเข้ามาใช้ในประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
รวมถึงมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้นำของเข้าและผู้ส่งของออกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ด้วยการออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 103/2564 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอทุเลาการเสียอากรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นคำขอทุเลาการเสียอากร ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2564 ให้สามารถยื่นหนังสือประกันตนเองของนิติบุคคล หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับเดิม มาใช้เพิ่มเติมเพื่อเป็นหลักประกันการชำระอากรได้
รวมถึงออกระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการงดหรือลดเบี้ยปรับ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 สำหรับผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกที่ไม่เสียอากรภายในกำหนดโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงอากร และได้นำเงินอากรที่ต้องเสียตามแบบแจ้งการประเมินอากร มาชำระต่อกรมศุลกากรภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 จะได้รับการงดเบี้ยปรับ ภายในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกได้อีกทางหนึ่ง
กรมศุลกากร ยังคงมุ่งมั่น ที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วยมาตรการทางศุลกากรและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร และจัดเก็บภาษีอากรอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจและความปลอดภัยของสังคมด้วยนวัตกรรมและบริการที่เป็นเลิศ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ