- Details
- Category: กรมบัญชีกลาง
- Published: Friday, 27 January 2023 07:35
- Hits: 1777
กรมบัญชีกลาง ออกแนวทางปฏิบัติ ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการในการส่งเสริมผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคง ไม่แน่นอน
โดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) ได้อนุมัติยกเว้นและกำหนดแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 เช่น การให้แต้มต่อด้านราคากับผู้ประกอบการ SMEs ในการเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายอื่นไม่เกินร้อยละ 10 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการ SMEs ที่รับงานจากหน่วยงานของรัฐที่มีรายได้ในรอบปีปฏิทินสูงกว่ารายได้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะประเมินให้ผู้ประกอบรายนั้นเป็น SMEs – GP และได้รับสิทธิตามกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุน ผู้ประกอบการ SMEs
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และประหยัดงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการวินิจฉัย โดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ สำหรับการส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพิ่มเติม ดังนี้
1.หลักเกณฑ์รายได้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำหนดไว้สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็น SME – GP
วิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท
วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 100,000,000 บาท ภาคการค้าและภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 50,000,000 บาท
วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 500,000,000 บาท ภาคการค้าและภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 300,000,000 บาท
2. การพิจารณาให้แต้มต่อด้านราคาแก่ผู้ประกอบการ SMEs
กรณี ที่ผู้ประกอบการ SMEs ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐจนมีวงเงินสัญญาสะสมตามปีปฏิทิน เมื่อนำมารวมกับราคาที่เสนอในครั้งนี้แล้ว มีมูลค่ารวมกันเกินกว่ามูลค่าของรายได้ตามขนาด ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. ผู้ประกอบการ SMEs รายนั้น จะไม่ได้รับการพิจารณาแต้มต่อด้านราคา กรณีการเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายอื่นไม่เกินร้อยละ 10
3. การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ
* การกำหนดเงื่อนไข หน่วยงานของรัฐกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ไว้ในแบบประกาศและเอกสารเชิญชวน ที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนด
* แนวทางการพิจารณา ให้คำนวณมูลค่าสัญญาที่ได้ลงนามกับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ในปีปฏิทิน ที่เข้ายื่นข้อเสนอ โดยไม่รวมสัญญาที่หน่วยงานของรัฐได้มีการบอกเลิกสัญญาหรือตกลงเลิกสัญญาแล้ว รวมกับราคาที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้เสนอในการยื่นข้อเสนอในครั้งนั้น
4. กรณีที่วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ถือเป็นผู้ประกอบการ SMEs โดยไม่ต้องตรวจสอบรายซื่อการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs
“แนวทางปฏิบัติฯ ดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป สำหรับ ผู้ปฏิบัติงาน ด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 56 ลงวันที่ 24 มกราคม 2566
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 กด 3 ในวัน เวลาราชการ”อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว