WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

11 ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ซึมตัว แต่ยังมีลุ้นขึ้นได้จากแรงซื้อคืน-งาน SET in the City ปลายสัปดาห์ช่วยหนุน
     นักวิเคราะห์ฯ คาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ภาพรวมยังอยู่ในภาวะซึมตัว แต่ยังมีลุ้นแรงซื้อหุ้นคืนจากหุ้นที่ถูกขายหนักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ผลประกอบการไตรมาส 3/60 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่วนใหญ่ยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดี ทำให้แรงขายที่มีออกมาก่อนหน้านี้อาจเป็นเพียงการขายทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่การจัดงาน SET in the City ที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ อาจจะช่วยหนุนภาพรวมการลงทุนได้ โดยมองแนวรับ 1,680 และแนวต้าน 1,710 จุด
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้อาจซึมลงได้เล็กน้อยแต่คงจะไม่ต่ำกว่าแนวรับ 1,680 จุด โดยในช่วง 1-2 วันนี้แม้ว่าภาพรวมตลาดฯจะซึม แต่ในช่วงต้นสัปดาห์ก็อาจจะมีแรงซื้อคืนจากหุ้นที่ถูกขายหนักไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากนั้นเมื่อใกล้วันสุดท้ายของการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็อาจจะเผชิญแรง Sell on fact ออกมาอีกบ้าง อย่างไรก็ดี 250 บริษัทที่ประกาศงบการเงินออกมาแล้วก็เติบโตกว่า 10% ซึ่งก็ค่อนข้างดี ดังนั้นที่ผ่านมามองว่าเป็นแค่แรงขายทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น จึงอาจมีแรงซื้อกลับคืนได้
นอกจากนี้ บ้านเรากำลังจะมีงาน SET in the City ในวันที่ 16-19 พ.ย.นี้ ก็อาจทำให้ได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาช่วยตลาดฯได้ในระดับหนึ่งด้วย
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวในแดนลบเล็กน้อย โดยยังให้ติดตามความคืบหน้าของแผนการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯต่อไป อีกทั้งให้ติดตามการปรับน้ำหนัก และหุ้นที่จะเข้า/ออก จากการคำนวนของ MSCI
พร้อมให้แนวรับที่ 1,680 จุด และแนวต้านไว้ที่ 1,710 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (10 พ.ย.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,422.21 จุด ลดลง 39.73 จุด (-0.17%), ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,582.30 จุด ลดลง 2.32 จุด (-0.09%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,750.94 จุด เพิ่มขึ้น 0.89 จุด (+0.01%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 73.86 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 2.51 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 62.69 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 4.45 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 5.32 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 5.18 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.86 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (10 พ.ย.60) 1,689.28 จุด ลดลง 13.75 จุด (-0.81%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,706.99 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (10 พ.ย.60) ปิดที่ระดับ 56.74 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 43 เซนต์ หรือ 0.8%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (10 พ.ย.60) ที่ 7.12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 33.10 ตลาดจับตาแผนปฎิรูปภาษี-ตัวเลขศก.สหรัฐฯ มองกรอบวันนี้ 33.05-33.15
- รมว.คลัง เผยปีหน้ารัฐบาลพยายามให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 4-5% ซึ่งคลังสามารถทำได้ แต่ต้องทำให้ถึงคนข้างล่าง โดยจะออกมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย หากเศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพจะทำให้ภาคที่อ่อนแอแข็งแรงฟื้นตัว
- ในปีงบประมาณ 2561 สคร.เร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2561 ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ย.
- ธปท.เผยธนาคารพาณิชย์ ยังคงทยอยปิดสาขาต่อเนื่อง ล่าสุด 10 เดือนปีนี้ปิดไปแล้ว 216 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นการปิดสาขาของแบงก์ใหญ่และกลาง กรุงไทย กสิกร และธนชาตส่วนแบงก์เล็กยังเปิดสาขาเพิ่มเพื่อเจาะลูกค้ารายย่อย
- ปี 61 กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณ 5,740.38 ล้านบาท ลดลง 3.08% เทียบกับงบประมาณปี 60 แบ่งเป็นงบที่ใช้ในการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม 5,155.07 ล้านบาท, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 492.20 ล้านบาท และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 93.10 ล้านบาท โดยกระทรวงจะนำงบประมาณมาใช้เพื่อดำเนินโครงการสำคัญ 6 ด้าน สอดคล้องกับทิศทางการส่งเสริมของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 และการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
*หุ้นเด่นวันนี้
- COM7 (กสิกรไทย) "ซื้อ"เป้า 17.50 บาท ถึงแม้ว่า COM7 เพิ่งจะประกาศกำไรที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ไตรมาส 3/2560 ผู้บริหารยังคงเชื่อว่าไตรมาศ 4/2560 จะเป็นไตรมาศที่ดีที่สุดของปี 2560 และผู้บริหารตั้งเป้าหมายการเติบโตปี 2561 ที่ 20% นอกจากนี้ COM7 ได้เปิดตัวโปรเจก Bananastore.com ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ SME เข้าร่วมเป็น Franchise กับ COM7 โดยการคาดการณ์ของผู้บริหารสำหรับกำไรไตรมาศ 4/2560 สอดคล้องกับประมาณการ โดยคาดว่าการเปิดตัวของ iPhone 8, iPhone 8 plus, และ iPhone X จะเป็นกำลังขับเคลื่อนกำไรสุทธิที่สำคัญ ขณะที่เป้าหมายการเติบโตด้านรายได้ที่ 20% ในปี 2561 นั้นสูงกว่าประมาณการที่ 13%
- BDMS (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อเก็งกำไร"เป้า 23 บาท กำไรปกติ Q3/60 อยู่ที่ 2,417 ล้านบาท +51% Q-Q, +11% Y-Y ดีกว่าคาด จาก High Season และการเติบโตของผู้บ่วยทั้งผู้ป่วยในและนอกประเทศ กอปรกับ อัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวขึ้น และบริหาร SG&A ได้ดี แนวโน้มดูดีขึ้นแต่ยังต้องติดตาม Wellness Center ที่ใกล้เปิดบริการ
- ROBINS (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 85 บาท กำไรสุทธิ Q3/60 อยู่ที่ 611 ล้านบาท (+2% Q-Q, +20% Y-Y) ทั้งที่ Q3/60 เป็น Low Season แต่กำไรกลับเพิ่มขึ้น Q-Q จากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวและการเปิดสาขาใหม่ หักล้างกับอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเล็กน้อยจากการเคลียร์ของเก่า แนวโน้มกำไร Q4/60 จะทำจุดสูงสุดของปี เพราะเป็น High Season, มีเปิดสาขาใหม่อีก 2 แห่ง, และได้ผลดีจากช็อปช่วยชาติ โดยปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรปี 2561-2563 ขึ้น
- SCB (ยูโอบี เคย์เฮียน) ความเสี่ยงจากการต้องตั้งสำรองเนื่องจากปล่อยกู้ PACE ต่ำลงอย่างมาก หลัง PACE มีแผนเพิ่มทุนและการขายโครงการให้ผู้สนใจ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเม็ดเงินมากพอสำหรับภาระผูกพันทั้งหลาย และคืนหนี้ให้กับธนาคาร

ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ หลังดาวโจนส์ปิดในแดนลบเมื่อวันศุกร์
      ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,607.56 จุด ลดลง 73.86 จุด, -0.33% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,435.18 จุด เพิ่มขึ้น 2.51 จุด, +0.07% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 29,058.23 จุด ลดลง 62.69 จุด, -0.22% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,728.22 จุด ลดลง 4.45 จุด, -0.04% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,548.27 จุด เพิ่มขึ้น 5.32 จุด, +0.21% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,414.92 จุด ลดลง 5.18 จุด, -0.15% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,743.14 จุด เพิ่มขึ้น 0.86 จุด, +0.05%
นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ หลังจากที่หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562
สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาได้เปิดเผยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับของวุฒิสภา ซึ่งเนื้อหาหลักในร่างกฎหมายมีความแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎร จึงส่งผลให้เกิดความไม่แน่แนอนว่า วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะสามารถประสานความแตกต่างในเนื้อหาเหล่านี้ให้ลงตัวได้หรือไม่
ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 97.8 ในเดือนพ.ย. หลังจากดีดตัวแตะระดับ 100.7 ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนต.ค.

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 51.11 จุด หลังหุ้นค้าปลีกร่วง,ปอนด์แข็ง
      ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (10 พ.ย.) จากแรงขายหุ้นกลุ่มค้าปลีกและพลังงาน ฉุดดัชนีหุ้นอังกฤษแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมา หรือในรอบ 6 สัปดาห์ นอกจากนี้เงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นยังได้ถ่วงบรรยากาศการซื้อขายในตลาดด้วย
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 51.11 จุด หรือ -0.68% ปิดที่ 7,432.99 จุด สำหรับทั้งสัปดาห์ ดัชนีร่วงลง 1.7%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนวันศุกร์ถูกกดดันจากข่าวคราวความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจค้าปลีก โดยวานนี้หุ้นบันเซิลร่วงหนัก หลังจากที่มอร์แกน สแตนลีย์ ชี้ว่ากลุ่มบริษัทกระจายสินค้ารายใหญ่แห่งนี้เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางด้านการแข่งขันจากธุรกิจของอเมเซอน
หุ้นเบอร์เบอร์รีร่วงลงต่อในวันศุกร์ หลังดิ่งลงไปถึง 10% เมื่อวันพฤหัสบดี ภายหลังกลุ่มบริษัทแฟชั่นหรูเผยแผนที่จะขึ้นไปทำตลาดที่สูงขึ้นอีก
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ขยายตัว 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 1.8% ส่งผลให้ปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นนั้นไม่เป็นผลดีต่อบรรดาบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทส่งออก เพราะทำให้สินค้าของตนมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อในต่างประเทศ นอกจากนี้ รายได้หรือกำไรในต่างประเทศจะลดลงเมื่อแปลงกลับมาเป็นสกุลเงินปอนด์
เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.32090 ดอลลาร์ และปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับยูโร สู่ระดับ 1.13330 ยูโร
ทั้งนี้ หุ้นปรับตัวลดลงทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มบริการสุขภาพและสื่อสาร
หุ้นลบนำโดยบันเซิล ที่ร่วงลงไป 6.54% บริษัทน้ำมัน SSE ลบ 2.44% หุ้นเบอร์เบอร์รีลบ 2.29%
หุ้นมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ลดลง 1.9% และไพรมาร์ก ห้างขายสินค้าราถูก ลดลง 1.5%
หุ้นบริษัทยา แกล็กโซสมิทไคล์น ร่วง 2.1% แอสตร้าเซนเนก้า ลบ 1.9%
หุ้นกลุ่มพลังงาน บีพีร่วง 1.5% และรอยัล ดัทช์ เชลล์ ลบ 1.3% หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
หุ้นเจ เซนส์บิวรี เชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ สวนทางตลาด พุ่งขึ้น 1.31% เช่นเกียวกับหุ้นบาร์รัตต์ ดีเวลอปเมนท์ และหุ้นเมอร์ลิน เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่บวกกว่า 1% เช่นกัน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า สัปดาห์นี้ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อตลาดมากนัก ต่างจากสัปดาห์ที่แล้วที่มีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษและสหรัฐ รวมถึงข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอย่างเงินเฟ้อและยอดค้าปลีก

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดร่วง เหตุผิดหวังผลประกอบการ
      ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (10 พ.ย. ) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ ประกอบกับเงินยูโรแข็งค่าขึ้นกดดันตลาด นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูปภาษีในสหรัฐยังได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปด้วยเช่นกัน
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.38 จุด หรือ -0.35% ปิดที่ 388.69 จุด สำหรับตลอดสัปดาห์ ดัชนีร่วงลง 1.8% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 3 เดือน
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดวันทำการล่าสุดที่ 5,380.72 จุด ลดลง 27.03 จุด, -0.50% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,127.47 จุด ลดลง 55.09 จุด, -0.42% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,432.99 จุด ลดลง 51.11 จุด, -0.68%
ตลาดหุ้นยุโรปได้รับปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยริชมอนด์ บริษัทแม่ของแบรนด์สินค้าหรูระดับไฮเอนด์อย่าง คาร์เทียร์ และ มงต์บลอง ร่วงลง หลังบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน ขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่างเบอร์เบอร์รีก็ยังคงร่วงลงต่อเนื่อง หลังจากที่ถูกเทขายจนหุ้นดิ่งลงไปถึง 10% เมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงหนักสุดในรอบ 5 ปี ภายหลังบริษัทออกรายงานเตือนว่า ยอดขายของบริษัทอาจจะไม่เติบโตจนกว่าจะถึงปีงบการเงิน 2564
นอกจากนี้ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่การบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีของสหรัฐอาจล่าช้าออกไป ซึ่งสวนทางความตั้งใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้โดยทันทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานเมื่อวันก่อนว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ สำนักงานสถิติฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย. มากกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษเดือนก.ย. ขยายตัว 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 1.8%
ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์นั้นได้หนุนเงินยูโรและเงินปอนด์ให้ปรับตัวขึ้น
ยูโรปรับตัวขึ้นแตะ 1.1656 ดอลลาร์ จาก 1.1643 ดอลลาร์เมื่อวันพฤหัสบดี ขณะที่ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรแข็งขึ้นราว 0.4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.32090 ดอลลาร์ และปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับยูโร สู่ระดับ 1.13330 ยูโร
ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นนั้นไม่เป็นผลดีต่อบรรดาบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทส่งออก เพราะทำให้สินค้าของตนมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อในต่างประเทศ นอกจากนี้ รายได้หรือกำไรในต่างประเทศจะลดลงเมื่อแปลงกลับมาเป็นสกุลเงินยูโรและปอนด์
หุ้นริชมอนด์ร่วง 3.8% หุ้นเบอร์เบอร์รีลบ 2.29%
หุ้นบริษัทค้าปลีกอังกฤษ มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ ลดลง 1.9% และไพรมาร์ก ห้างขายสินค้าราถูก ลดลง 1.5%
หุ้นบริษัทยา แกล็กโซสมิทไคล์น ร่วง 2.1% แอสตร้าเซนเนก้า ลบ 1.9% เมอร์ค ลบ 2.26%
หุ้นกลุ่มพลังงาน บีพีร่วง 1.5% หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ลบ 1.3% หุ้นอาร์ดับเบิ้ลยูอี กลุ่มพลังงาน ลบ 1.88%
หุ้นเปอโยต์ ผู้ผลิตรถสัญชาติฝรั่งเศส ร่วง 3.91% หุ้นมิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์ ลบ 1.84% หุ้นลาฟาร์จโฮลซิม บริษัทผลิตปูนซีเมนต์จากสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ลบ 1.56%
หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้นสวนทางกลุ่มอื่นๆ ดอยซ์แบงก์บวก 3.63% หุ้นบีเอ็นพี พาริบาส์ บวก 0.22%
หุ้นอาดิดาสบวก 2.84% หุ้นลุฟท์ฮันซ่าบวก 2.42%
หุ้นอาร์เซลอร์มิตตัล ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกที่ตั้งอยู่ในลักเซมเบิร์กและจดทะเบียนในตลาดหุ้นเนเธอร์แลนด์ ปรับตัวขึ้น 3.37% หลังบริษัทเผยผลกำไรไตรมาสสามเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าซึ่งสูงเกินคาด

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 39.73 จุด นลท.วิตกมาตรการลดภาษีสหรัฐส่อแววล่าช้า
       ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ (10 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการแข็งแกร่งของบริษัทเทคโนโลยีช่วยลดช่วงลบ และดันดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้นในช่วงท้ายตลาดจนปิดแดนบวกสวนทางอีกสองดัชนี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,422.21 จุด ลดลง 39.73 จุด, -0.17% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,582.30 จุด ลดลง 2.32 จุด, -0.09% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,750.94 จุด เพิ่มขึ้น 0.89 จุด, +0.01%
สำหรับตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.5% ส่วนดัชนี S&P และ Nasdaq ลดลง 0.2% โดยนับเป็นสัปดาห์แรกที่ดาวโจนส์และ S&P ปรับตัวลง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมา 8 สัปดาห์ติดต่อกันก่อนหน้านี้ ขณะที่ Nasdaq ปรับตัวขึ้นมา 6 สัปดาห์
โดยภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กในวันศุกร์นั้น นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ หลังจากที่หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562
สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาได้เปิดเผยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับของวุฒิสภา ซึ่งเนื้อหาหลักในร่างกฎหมายมีความแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎร จึงส่งผลให้เกิดความไม่แน่แนอนว่า วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะสามารถประสานความแตกต่างในเนื้อหาเหล่านี้ให้ลงตัวได้หรือไม่
การชะลอการบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีถือเป็นการสวนทางความตั้งใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้โดยทันทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ ยังอาจจะส่งผลให้บริษัทของสหรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเลื่อนการตัดสินใจย้ายฐานกลับสู่สหรัฐ เนื่องจากต้องการรอให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้
ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 97.8 ในเดือนพ.ย. หลังจากดีดตัวแตะระดับ 100.7 ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนต.ค.
นายริชาร์ด เคอร์ติน หัวหน้านักวิเคราะห์สำหรับการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคมีมุมมองในเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
บริษัทนิวส์ คอร์ป รายงานกำไรและรายได้ในไตรมาส 3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยนิวส์ คอร์ป เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร 7 เซนต์ต่อหุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1 เซนต์ต่อหุ้น ขณะที่ยอดขายอยู่ที่ระดับ 2.06 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.97 พันล้านดอลลาร์
บริษัทเอ็นวิเดีย ผู้ผลิตชิป รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ดีเกินคาดเช่นกัน โดยมีกำไร 1.33 ดอลลาร์ต่อหุ้น พุ่งขึ้นถึง 60% จากปีที่แล้ว และรายได้แตะ 2.64 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 32%
ด้านนอร์ดสตรอมรายงานผลประกอบการหลังปิดตลาดในวันพฤหัสบดี เผยกำไรแตะ 0.67 ดอลลาร์ต่อหุ้น สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.63 ดอลลาร์ และรายได้แตะ 3.63 ดอลลาร์ สูงกว่าที่ตลาดการณ์ไว้ที่ 3.58 พันล้านดอลลาร์
หุ้นเอ็นวิเดียพุ่ง 5.27%
หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ หรือ เอเอ็มดี บวก 1.26% และหุ้นไมครอนบวก 2.94%
หุ้นค้าปลีก เจซี เพนนีย์ ทะยาน 14.91% จากผลประกอบการที่ดีเกินคาด
--อินโฟเควสท์
OO2248

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!